แม้ว่าอารมณ์โกรธ จะเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย แต่การที่มันเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนักใช่ไหมล่ะคะ โดยเฉพาะเมื่ออารมณ์นี้เกิดขึ้นกับลูกของเรา จนในที่สุดเราก็คิดว่า ลูกเรานั้นเป็น “เด็กขี้โมโห” แน่ๆ เลย
คำว่า “เด็กขี้โมโห” คงเป็นชื่อเรียกที่ไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็น และแน่นอนว่าบรรดาพ่อแม่ต่างก็ต้องภาวนาว่าอย่าให้เป็นลูกฉันเลย แต่ก่อนที่ “เด็กธรรมดา” จะแปลงกายไปเป็น “เด็กขี้โมโห” ได้นั้น มันต้องมีสาเหตุอะไรสักอย่างหรืออาจจะหลายอย่างแน่นอนค่ะ การที่เราพูดว่า เด็กๆ มักโมโหโดยไม่มีเหตุผลนั้น เป็นเรื่องไม่จริงเลย ครูพิมคิดว่าคนที่พูดแบบนี้ น่าจะเป็นเพราะไม่มีความเข้าใจในข้อจำกัดและพัฒนาการของเด็กมากกว่า
ในความเป็นจริงแล้ว เด็กและผู้ใหญ่ ก็มีความโกรธที่ไม่แตกต่างกันหรอกค่ะ เพียงแต่เด็กๆ ยังไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับปัญหา โดยเฉพาะความรู้สึกใจในใจที่อธิบายออกมาไม่ได้ และยังไม่มี ความเข้าใจถึงการกำกับตัวเอง (self-regulation) เหมือนที่ผู้ใหญ่เข้าใจ พอไม่รู้ว่าปัญหาต้องแก้แบบไหน ไม่เข้าใจว่าจะควบคุมตัวเองไปทำไม การแสดงออกว่าโมโหสุดๆ แล้วนะ จึงเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ง่ายๆ และเป็นปกติ เพราะเด็กๆ แทบไม่ต้องคิดอะไรเลยเมื่อเขารู้สึกโกรธ รู้แต่อยากจะระบายความรู้สึกออกมาก็เท่านั้น บางคนขว้างปาข้าวของ บางคนตะโกนเสียงดังลั่นบ้าน(หรือห้าง!) บางคนลงไปชักดิ้นชักงอ บางคนทำท่าขึงขันเหมือนตัวจะระเบิด ทั้งหมดนี้ ครูพิมเห็นมาหมดแล้วค่ะ และเมื่อเด็กๆ ยังไม่มีการยับยั้งความโกรธ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเรานี่หละค่ะ ที่จะต้องป้องกันไว้แต่ต้น โดยการระแวดระวังไม่ให้ความรู้สึกโกรธนั้นเกิดขึ้นกับเด็กๆ
วันนี้ครูพิมจึงมี Top 5 ของสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง โมโห อาละวาด มาให้ผู้ปกครองได้ลองพิจารณากันดูค่ะว่า อะไรน่าจะเป็นสาเหตุของความโกรธที่เกิดขึ้นกับลูกในแต่ละสถานการณ์ เพราะวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ก็คือการรู้ว่า ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากอะไร จริงไหมล่ะคะ
ว่าแล้วก็มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
1) สาเหตุแรก : หนูโมโหเพราะ หนูหิว หนูเหนื่อย หนูง่วง
ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมล่ะคะ ว่าสาเหตุอันดับแรกของความเป็นเด็กขี้โมโหนั้น เริ่มต้นจากเรื่องที่ดูจะธรรมดาที่สุดเรื่องนี้ หากใครเคยได้ยินทฤษฎีของมาสโลว์ที่ว่าด้วยเรื่อง ความต้องการของมนุษย์ 5 ขั้น นั้น ก็คงจะเข้าใจสาเหตุของเรื่องนี้ได้ดีทีเดียวค่ะ โดยเนื้อหาของทฤษฎีนี้บอกเราว่า ปัจจัยพื้นฐานแรกของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม ก็คงหนีไม่พ้นความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ (Physiological Needs) หรือพูดภาษาธรรมดาสามัญก็คือ กินอิ่ม นอนหลับ นั่นหละค่ะ แต่กลับมีผู้ปกครองหลายท่านละเลยในจุดนี้ ทั้งการไม่ใส่ใจเรื่องเวลาอาหาร หรือไม่จัดเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม บ้างก็พาลูกตะลอนทั้งวันโดยไม่สนใจว่าเด็กจะรู้สึกอย่างไร เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเหล่านี้ล่ะค่ะ ที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกโมโหได้มากที่สุด และอันที่จริง ผู้ใหญ่อย่างเราก็เป็นกันไม่น้อยนะคะ อาการที่เรียกว่า “โมโหหิว” นี่ และสำหรับวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือการจัดสรรเวลาในแต่ละกิจกรรมให้เหมาะสม มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน และหมั่นคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ของลูกอยู่เสมอ ดูแลเรื่องมื้ออาหาร ไม่ให้ห่างจากกันจนเกินไป เด็กบางคนทานน้อยก็ไม่ต้องฝืนค่ะ ให้ใช้วิธีทำเป็นมื้อย่อยๆ แทน หากเห็นว่าเขาเริ่มเหนื่อย พยายามให้เด็กได้หยุดพัก อาจจะด้วยการชวนอ่านนิทาน ฟังเพลงเบาๆ หรืองีบหลับก็ได้ค่ะ เท่านี้ก็จะลดสาเหตุของการเป็นเด็กขี้โมโหลงไปได้มากทีเดียวค่ะ
2) สาเหตุที่สอง : หนูโมโหเพราะ หนูรู้สึกถูกควบคุม (มากเกินไป)
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ครูพิมมีตัวอย่างสุดคลาสสิคมาฝากค่ะ
ลูก : “ไม่เอา หนูจะไม่ใส่เสื้อตัวนี้”
แม่ : “ใส่ตัวนี้แหละ จะได้รีบๆ ออกไป จะไปมั้ยสวนสนุกน่ะ ”
ลูก : “ไม่อาวววววววววววววววววววว! หนูไม่ใส่ตัวนี้ แง๊”
แล้วความโมโหโทโสก็เกิดขึ้นกับทั้งลูกและแม่ เอวังด้วยประการฉะนี้…
หากการถูกบังคับคือสิ่งที่คุณไม่ชอบ เด็กๆ ก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกันค่ะ
ผู้ปกครองหลายคนมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือการ “ช่วยเหลือ” ในขณะที่เด็กๆ บอกว่านี่มันการ “บังคับ” ชัดๆ
ทางออกของเรื่องนี้มีสองขั้นตอนง่าย
- ขั้นตอนแรก : สงบสติอารมณ์(ของตัวเอง) ทันทีที่ลูกต่อต้านหรือแสดงอาการไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง ให้คุณนิ่งไว้ก่อนนะคะ อย่าเพิ่งรีบแจกใบสั่งซ้ำๆ เมื่อสงบลงแล้ว จึงต่อด้วย
- ขั้นตอนที่สอง : เสนอทางเลือก การให้ทางเลือกเป็นการมอบอำนาจอย่างหนึ่ง ซึ่งด้วยวิธีนี้เด็กจะรู้สึกดีมากกว่าการถูกบอกให้ทำโดยที่ผู้ใหญ่ถือว่าตัวเองมีเหตุผลที่ดีที่สุด เช่นว่า “เสื้อตัวนี้มันดีแล้ว” หรือ “เลือกนานๆ จะไปเที่ยวไม่ทัน” เพราะ ณ ขณะนั้นเด็กกำลังโฟกัสอยู่กับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น นั่นก็คือ การใส่เสื้อค่ะ ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำก็คือ “ให้ทางเลือก” แทนการ “ให้เหตุผล” นั่นเองค่ะ
3) สาเหตุที่สาม : หนูโมโหเพราะ หนูรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ
เคยไหมคะ ที่ลูกชวนคุณเล่น ชวนคุณคุย กี่ครั้งๆ คุณก็ได้แต่บอกว่า ไม่ว่าง ยุ่ง อย่ากวน แม่ทำงานนะ พ่อทำธุระอยู่ จนในที่สุด คุณเริ่มรู้สึก “หงุดหงิด” ลูกเสียเหลือเกิน ข่าวร้ายคือ ในขณะเดียวกัน ลูกของคุณก็อาจกำลังเริ่มรู้สึก “โกรธ” คุณอยู่ด้วยเช่นกัน
เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในแต่ละวัน เด็กๆ ต้องการเวลาคุณภาพ สำหรับการเชื่อมต่อความรู้สึกระหว่างเขากับคุณ เพียงแค่วันละ 20 – 30 นาที เท่านั้น แต่เขากลับได้รับเพียงการปฏิเสธ เฮ้อ…คิดแล้วมันเศร้าแทนเด็กๆ จังค่ะ
ทางออกของเรื่องนี้จึงมีเพียงอย่างเดียว คือการจัดสรรเวลาคุณภาพของคุณและเด็กๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง
4) สาเหตุที่สี่ : หนูโมโหเพราะ หนูเจ็บ!
ความเจ็บในที่นี้ หมายรวมถึงทั้งทายกายและทางใจ ซึ่งกรณีหลังอาจหมายถึงความผิดหวัง ความเศร้า ความเสียใจ เด็กๆ หลายคนไม่สามารถที่จะอธิบายความรู้สึกเจ็บป่วยของตัวเองได้ จึงแสดงออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวและอารมณ์ที่ฉุนเฉียว
หากลูกของคุณแสดงอาการโมโหในลักษณะของการตัดพ้อ ต่อว่า แสดงออกถึงการโกรธ เกลียดอะไร หรือใครอย่างรุนแรงออกมา ขอให้คุณพยายามสงบสติอารมณ์ของเขาให้เร็วที่สุด (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://goo.gl/xnKN24 ) แล้วลองสอบถามสาเหตุดูด้วยความอ่อนโยน เช่น หนูโกรธอะไรลูก หนูรู้สึกยังไงคะ น้องต้นเจ็บตรงไหนรึเปล่าครับ น้องตาลมีอะไรมาทำให้หนูรู้สึกไม่ดีใช่ไหมลูก เหล่านี้เป็นต้นค่ะ
5) สาเหตุที่ห้า: หนูโมโห เพราะหนูไม่ได้สิ่งที่หนูอยากได้
ความโกรธในลักษณะนี้ เกิดขึ้นบ่อยจนมีชื่อเรียกขานเป็นที่รู้จักกันดีค่ะว่า “temper tantrum” ซึ่งเป็นอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นเพราะเด็กๆ ยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองเมื่อเกิดความรู้สึกผิดหวังได้
แต่ในทางกลับกัน การที่เขาแสดงออกถึงความโกรธนี่เอง กลับทำให้เขาได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ (ซะงั้น)
ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะทำสิ่งนี้อีก ซ้ำไปเรื่อยๆ แทนการเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
ว่าแล้วก็ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์คลาสสิกอีกสักอันหนึ่งแล้วกันนะคะ
ณ ห้างสรรสินค้าแห่งหนึ่ง ในระหว่างการเดินช็อปปิ้งของหนูน้อยวัย 5 ขวบ กับคุณแม่ผู้แสนดี
ลูก : “แม่ หนูจะเอาเฮลิคอปเตอร์”
แม่ : “ที่บ้านมีแล้วไงลูก”
ลูก : “ไม่เหมือนกัน หนูจะเอาแบบนี้”
แม่ : “ไม่เอาแล้วครับ ไปตรงโน้นกันดีกว่า”
ลูก : “ม่ายยยย หนูไม่ไป หนูจะเอาๆๆๆ ” ตามด้วยการร้องไห้ดังๆ
แม่ : “น้องต้น ที่บ้านเรามีแล้วไงลูก แม่เพิ่งซื้อให้เองนะ หนูอย่างอแงสิครับ”
ลูก : “หนูจะเอาอีก มันจะได้เป็นเพื่อนกัน แงๆๆๆ แม่ใจร้าย น้องต้นโกรธแม่แล้ว แง๊” ว่าแล้วคราวนี้ก็ลงไปนั่งกับพื้นเสียเลย
แม่ : “น้องต้นพูดแบบนี้ไม่น่ารักเลยนะครับ ไหนจะเอาอันไหน คราวนี้ตัวสุดท้ายแล้วนะลูก ”
เมื่อสิ่งที่เด็ก ไม่ได้รับอนุญาตในตอนแรก กลับกลายเป็นสิ่งที่เขาได้รับหลังจากการแสดงความโมโหออกไปแล้ว แถมยังใช้ได้ผลหลายครั้งเสียด้วยสิ ทีนี้คงไม่ต้องถามใครแล้วนะคะว่า ทำไมลูกฉันขี้โมโหจัง?
หวังว่าสาเหตุ 5 ประการนี้ คงจะพอเป็นแนวทางให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้เข้าใจถึงที่มาของการเป็น “เด็กขี้โมโห” กันบ้างไม่มากก็น้อย ไม่น้อยก็น้อยมากนะคะ (เอ๊ะ ยังไง) เอาเป็นว่า ไม่มีอะไรที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไปกว่าการทำความเข้าใจในตัวลูกหรอกค่ะ หากเรามีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ปัญหาต่างๆ ย่อมลดลงไปได้อย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ได้รู้แล้วว่า บางเรื่องมันเป็นแค่เรื่องของ “ข้อจำกัดทางพัฒนาการ” ไม่ใช่ปัญหาของลูกเราสักหน่อย…เห็นไหมคะ แค่นี้ปัญหาก็ลดลงแล้ว