Talk to Parents

7ขั้นตอน สอนลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเด็กก้าวร้าว

tantrumchild

หนึ่งในพฤติกรรมที่ครูพิมเชื่อว่า สร้างความเครียดและกดดันให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่น้อย ก็คือการแสดงความก้าวร้าว การเรียกร้อง การใช้ความรุนแรง การลงไปชักดิ้นชักงอ และอีกสารพัดอาการที่เรารู้สึกว่า “ทนไม่ได้” เมื่อเด็กทำพฤติกรรมแบบนั้น

ข่าวดีก็คือ พฤติกรรมเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดมาจากนิสัย “เด็กเกเร” ของเด็ก แต่มักจะเกิดขึ้นจากการที่เขาอยู่ในระหว่างช่วงวัยที่พัฒนาการทางภาษายังไม่สมบูรณ์ ทำให้บางครั้งการสื่อสารในสิ่งที่ต้องการเป็นเรื่องยาก เมื่อสื่อสารทางภาษาไม่ได้ จึงมักถูกแปลงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมในลักษณะต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมก้ามร้าว อาละวาด ก็นับเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของเด็กๆ ที่กำลังบอกว่าเขารู้สึก “ไม่โอเค” นั่นเองค่ะ แต่ข่าวร้ายก็คือ หากเด็กๆ ไม่ได้รับการสอนที่ถูกต้อง พฤติกรรมที่ไม่ได้มาจากอุปนิสัยของเด็ก ก็อาจจะกลายเป็นพฤติกรรมที่เด็กทำจนเป็นนิสัยได้ หากว่าสิ่งที่ผู้ปกครองตอบสนองนั้น ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมหรือแสดงออกในสิ่งที่เหมาะสม

เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมแบบนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ให้เขารู้ว่าเราก็ “ไม่โอเค” เช่นกันที่เขาแสดงออกแบบนี้ วิธีการสอนให้เด็กเข้าใจและแสดงออกในสิ่งที่ “ดีกว่า” จึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจและให้ความสำคัญ วันนี้ครูพิมจึงนำขั้นตอนในการสอนเด็กๆ ทั้งเล็กและโตมาเล่าสู่กันฟังอย่างละเอียดกันเลยทีเดียวค่ะ

 

1) เย็นเข้าไว้เมื่อลูกใจร้อน : จุดที่สำคัญที่สุดเมื่อเด็กเริ่มที่จะระเบิดอารมณ์หรือแสดงความก้าวร้าวก็คือ การแสดงออกของพ่อแม่ ทันทีที่เด็กเห็นปฏิกิริยาโต้กลับของเรา เด็กจะรู้เลยว่าเขาแสดงพฤติกรรมนั้นได้หรือไม่ หากเขาเห็นว่าเครื่องเราก็เริ่มติด แน่นอนว่าเด็กก็ไม่คิดจะเบรกตัวเองแน่นอนค่ะ แต่หากเราเย็นเข้าไว้ เด็กอาจท้าทายเราเพิ่มขึ้นด้วยการร้องให้หนักขึ้น วีนมากขึ้น หรืออื่นๆ เพราะเด็กเองก็เริ่มไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ ตกลงแม่/พ่อ เข้าใจรึยังนะว่าเรากำลังไม่โอเค แต่หากเรายังนิ่งต่อ เด็กจะสงบลงเอง (อาจจะสงบลงเล็กน้อย แต่นับเป็นสัญญาณที่ดี) เมื่อเด็กเริ่มสับสน ทีนี้เราก็เข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 กันค่ะ

 

2) ตรวจสอบแหล่งที่มาของการวีน : คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านอาจลืมที่จะสังเกตหรือสอบถามว่าลูกต้องการอะไร หรือไม่ได้หาสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมโวยวายนั้น ซึ่งบางครั้งอาจมาจากสาเหตุธรรมดาๆ อย่างความหิว เหนื่อย ง่วง หรือบางครั้งอาจเป็นการที่เด็กต้องการให้เราสนใจ หรือเกิดความหงุดหงิดใจจากอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเราไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ก็จะทำให้เราสอนหรือช่วยเหลือเด็กได้ไม่ตรงจุดนั่นเองค่ะ

Mother comforting her crying little girl - parenthood concept
“รับฟังสาเหตุที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว”

3) ใช้คำอธิบายกับลูกให้ชัดเจน แทนการบอกว่า “ไม่” หรือ “อย่า” : เมื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว และลูกเริ่มสงบลงแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาบอกเหตุผลกันค่ะว่า สิ่งที่เด็กทำนั้นไม่ดีอย่างไร หรือ เหตุผลที่เราตามใจในสิ่งที่เขาเรียกร้องไมได้ เพราะอะไร โดยให้เราพูดเพียงแค่ใจความสั้นๆ ใช้คำง่ายๆ แต่ชัดเจน หนักแน่น เช่น “แม่รู้ว่าหนูอยากซื้อลูกอม แต่เราซื้อขนมมาแล้วเห็นไหมคะ” แทนการพูดว่า “บอกว่าไม่ให้ซื้อไง ซื้อแล้วจะเอาอะไรอีก” ซึ่งประโยคหลังนั้น เป็นการโต้เถียงกับเด็กที่ค่อนข้างเปล่าประโยชน์ และไม่ได้ช่วยสอนให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผลค่ะ

 

4) เสนอทางเลือกในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง : บางครั้งเด็กเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับความรู้สึกที่รุนแรงในใจอย่างไร หน้าที่ของเราก็คือ การช่วยให้เด็กๆ มีทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการอารมณ์นั้น เช่น เมื่อเด็กอาละวาดเพราะอยากซื้อของเล่น แต่เราไม่สามารถซื้อให้ได้ เราอาจจะเสนอทางเลือกกับเด็กเพื่อควบคุมตัวเองเช่น “หนูจะให้คุณพ่ออุ้มหรือหนูจะร้องไห้อยู่ตรงนี้คนเดียวครับ เพราะพ่อจะต้องไปซื้อของต่อแล้ว”

Mother having discussion with son
“เสนอทางเลือกให้กับลูก”

 

5) ยึดมั่นในสิ่งที่เพิ่งจะพูดไป: จุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมากทีเดียวค่ะ หลายๆ ครั้งที่เราพาเด็กมาถึงจุดที่สงบลงแล้ว แต่กลับเป็นคนที่ลืมกฎเสียเอง หรือเมื่อเริ่มเห็นว่าเสียเวลา หรือเด็กไม่หยุดอาละวาดเสียที เราก็เปลี่ยนทางเลือกหรือยอมตามใจ ซึ่งเมื่อมีครั้งที่ 1 ก็มีครั้งอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน เพราะเด็กได้เรียนรู้แล้วว่า เมื่อเขาอาละวาด เขาก็จะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เด็กจึงยังคงทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่องนั่นเองค่ะ

 

6) ไม่ใช้กำลังกับเด็กในทุกรูปแบบ : หลายคนอาจจะประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมลูกไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ แต่ถ้าเด็กๆ ยังคงมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงเริ่มจะทนไม่ไหวแล้วเช่นกัน ครูพิมจึงขอคั่นไว้ตรงนี้เลยค่ะว่า อย่าใช้ความรุนแรงกับลูกเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อการอาละวาดของลูกนั้นมาจากความรู้สึกผิดหวัง โกรธ หรือความคับข้องใจ เพราะเมื่อเราเริ่มใช้การบังคับหรือใช้ความรุนแรง สิ่งที่เราตั้งใจสอนมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่าในทันทีค่ะ

 

7) แสดงออกให้ลูกรู้สึกถึงความรัก : มาถึงขั้นตอนสุดท้ายกันแล้วนะคะ ขั้นตอนนี้ครูพิมขอเรียกว่า เทคนิค “ความรักชนะทุกสิ่ง” หลังจากที่ใช้เวลาเจรจาต่อลูกกันสักพัก หรือหลังจากที่เด็กสงบลงแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแบบนี้อีก ก็คือการที่เขาได้รับรู้ว่า พ่อ/แม่ ยังคงรักเขา แม้เขาจะทำพฤติกรรมที่พ่อ/แม่ไม่ชอบออกไปแล้วก็ตาม เพราะในขั้นตอนก่อนหน้านี้ เป็นการอธิบายและให้เวลากับเด็กในการแก้ไขพฤติกรรมของตัวเองแล้ว เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความรักมาเป็นเครื่องต่อรองกับเด็กอีก เช่นว่า ถ้ายังไม่หยุด จะไม่รักแล้วนะ หรือการแสดงออกด้วยท่าทางในลักษณะที่สื่อถึงการไม่รัก รวมถึงการใช้คำพูดรุนแรงหรือแสดงความรังเกียจเด็ก เพราะการถอนความรักไม่เคยทำให้ใครอยากเป็นคนที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม การพยายามแสดงออกให้เด็กรู้ว่าเรายังอยู่ข้างเขาเพียงแต่ไม่ชอบในสิ่งที่เขาทำ จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า และในระยะยาวยังทำให้เด็กยอมที่จะฟังเรามากกว่าอีกด้วยค่ะ

 

สำหรับขั้นตอนที่ครูพิมเขียนมาให้นี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์จริงและตามลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคน และแน่นอนว่า ไม่มีสูตรหลักหรือเทคนิคใดที่จะใช้ได้ผลแบบตายตัว อีกทั้งผู้ปกครองเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนขั้นตอนเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการปรับพฤติกรรมของลูก ก็คือเราต้องเข้าใจที่มาของพฤติกรรมนั้น แล้วแก้ไขในเชิงบวกอย่างถูกวิธีและมีหลักการ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่ “ความเรียบง่ายแต่หนักแน่นมั่นคง” ตามที่ครูพิมได้อธิบายไปในแต่ละขั้นตอนแล้วนั่นเองค่ะ สู้ๆ นะคะ คุณผู้อ่าน แล้วเรามาสร้างเด็กดีให้โลกใบนี้ไปด้วยกันค่ะ

 

 

Comments

1 Comment

  1. ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆค่ะ สำคัญมากๆเลยคือต้องคุมตัวเองให้อยู่ก่อน ไม่เครื่องติดไปกับลูก ไม่งั้นก็ทำขั้นตอนอื่นๆไม่ได้ จะพยายามเอาขั้นตอนนี้ไปประยุกต์ใช้กับเจ้าตัวน้อยที่บ้านนะคะ ขอบคุณมากจ้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *