เช้าวันจันทร์ในสัปดาห์หนึ่ง ขณะที่ครูพิมนั่งทำงานอยู่ตามปกติ
น้องอันอัน(นามสมมติ) สาวน้อยวัยประมาณ 5 ขวบวิ่งเข้ามาในสโมสรที่ครูพิมทำงานอยู่
ในตอนนั้น เพียงแค่ไม่กี่นาทีที่เห็นครูพิมก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า
สาวน้อยคนนี้น่าจะมีอาการที่ผู้ปกครองสมัยนี้รู้จักกันดีว่า “สมาธิสั้น”
ในตอนแรก ครูพิมก็ไม่ได้สอบถามจากผู้ปกครอง เนื่องจากน้องไม่ได้มาที่นี่เพื่อการรักษา จึงเกรงว่าจะเป็นการเสียมารยาท จึงได้ให้บริการไปตามปกติ แต่หลังจากที่เล่นกับน้องอันอันไปได้สักพัก คุณพ่อก็เป็นผู้เข้ามาเฉลยเองว่า น้องมีอาการสมาธิสั้น
จากจุดนั้นเอง ครูพิมจึงไม่ลังเลที่จะพูดคุยกับคุณพ่อเพิ่มเติม เนื่องจากเรื่องของอาการสมาธิสั้นนั้น เป็นเรื่องที่ครูพิมกำลังสนใจและศึกษาหาข้อมูลอยู่ไม่น้อย และจากการสนทนาในวันนั้นเอง ทำให้ครูพิมตัดสินใจว่าจะต้องขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้ผู้ปกครองทุกท่านได้ฟัง เพราะหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านๆ ไม่มากก็น้อย (แต่คิดว่ามากอยู่ทีเดียวหละค่ะ)
ครูพิมเริ่มต้นการสนทนาด้วยการสอบถามเรื่องราวทั่วๆ ไป อย่างเช่นเรื่องของโรงเรียน ซึ่งคุณพ่อก็ให้คำตอบมาว่า
“ก็ไปบ้างครับ แต่เค้าไม่ค่อยเรียน และเค้าดูไม่ชอบไปโรงเรียนเลย ตอนนี้ก็เลยไม่ได้เข้าเรียนที่ไหน”
ซึ่งครูพิมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่น้องจะแสดงอาการว่าไม่ชอบโรงเรียนหรือไม่อยากไปเรียน โดยเฉพาะเมื่อน้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบปกติ ครูพิมจึงสอบถามเพิ่มเติมเรื่องการไปปรึกษาคุณหมอ หรือการปรับพฤติกรรมของน้องที่โรงพยาบาล ซึ่งคุณพ่อก็ให้คำตอบว่า ได้มีการปรึกษาคุณหมอบ้างเป็นครั้งคราว และมีการปรับพฤติกรรมที่โรงพยาบาลด้วย แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น
หลังจากนั้นก็คุยเรื่องแนวทางการรักษาสักพัก ทีแรกครูพิมคิดว่าไม่อยากแนะนำอะไรคุณพ่อมาก เนื่องจากเห็นได้ว่ามีการปรึกษากับคุณหมอมาบ้างแล้ว แต่ก็แอบรู้สึกว่าเราเองก็มีข้อมูลบางอย่างที่อยากจะแนะนำ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและจากความรู้ด้านจิตวิทยาที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างออกไป เลยตัดสินใจว่า ถ้าความรู้ของเราจะช่วยน้องได้สักนิดก็ยังดี และการเผยแพร่ความรู้เพิ่มเติมในมุมมองของนักจิตวิทยาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนี่นา
ว่าแล้วครูพิมจึงขอล้วงข้อมูล เอ้ย สอบถามคุณพ่อเพิ่มเติม ด้วยคำถามเบสิกๆ ที่ว่า อยู่ที่บ้านน้องชอบเล่นอะไร และจุดนี้เอง ครูพิมจึงได้ถึงบางอ้อ และไม่ลังเลที่จะต้องขอคุยกันต่อยาวๆ เพราะเรื่องของเรื่องก็คือ น้องชอบเล่น “สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต” นั่นเอง
เอาหละ และโอกาสนี้ ครูพิมขอใช้พื้นที่ต่อจากนี้อธิบายทั้งคุณพ่อและผู้อ่านเลยนะคะว่า อันที่จริงแล้วอาการสมาธิสั้นนั้น มีอยู่ 2 ประเภทที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ นั่นคือ สมาธิสั้นแท้ และสมาธิสั้นแบบเทียม(หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในต่างประเทศว่า ADHD and Pseudo ADHD) ซึ่งอาการของโรคสมาธิสั้นแท้และเทียมนั้น ดูเหมือนว่าแทบจะไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างกันแน่ๆ ก็คือ สาเหตุของอาการค่ะ
โดยสมาธิสั้นแท้นั้น จะมาจากความผิดปกติของสมอง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นมาตั้งแต่กำเนิดก็ได้ค่ะ ในขณะที่สมาธิสั้นเทียมนั้น มาเกิดเอาทีหลังจากทั้งพฤติกรรมการเลี้ยงดู และเหตุปัจจัยภายนอกอื่นๆ ซึ่งถ้าให้พูดตรงๆ ครูพิมก็อยากจะบอกว่า ไอสาเหตุหลังนี่มันช่างน่าจับผู้ปกครองมาตีเสียให้เข็ดจริงๆ ค่ะ เพราะเราอาจจะพูดได้เลยว่า เป็นอาการที่เกิดจากการ “ทำ(ลูก)ตัวเอง”
พอเล่ามาถึงตรงนี้ คุณพ่อเริ่มสนใจมากขึ้น และในขณะเดียวกันเหมือนจะมีท่าทางห่อเหี่ยวลงเล็กน้อย (พอเดาได้ใช่ไหมคะว่าทำไม) ครูพิมจึงอธิบายต่อกับคุณพ่อว่า…
โดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุหลักๆ ของสมาธิสั้นเทียม ก็มักมาจากวิธีการเลี้ยงดู หรือพฤติกรรมที่เป็นชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปโดยเฉพาะจากการใช้พวกเทคโนโลยีเลี้ยงลูก นี่หละค่ะ เพราะว่าอุปกรณ์เหล่านี้มันมีการตอบสนองที่ไว จนสมองของเด็กแทบจะแปลผลไม่ทัน กดปุ๊ปมีเสียง จับปุ๊บมีภาพ แหม ลูกเรานี่ทันสมัยสุดๆ บางคนนี่ถึงกับบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจเลยที่ลูกวัยขวบกว่ากดปุ่มเปิดเพลงจากโทรศัพท์เองได้ จนลืมไปว่าเมื่อเขาเจอกับอะไรที่มันไวมากๆ จนชิน ทีนี้การเคลื่อนไหวแบบธรรมดาๆ หรือธรรมชาติๆ จึงกลายเป็นเรื่องชักช้า ไม่ทันใจ ยิ่งโดยเฉพาะถ้าเค้าเจอกับของพวกนี้ก่อน 2 ขวบ โอกาสที่จะมีอาการสมาธิสั้นก็ยิ่งสูงค่ะ
มาถึงตรงนี้ ครูพิมเห็นคุณพ่อดูตัวลีบเล็กลงเรื่อยๆ จึงต้องรีบให้กำลังใจว่า…
“ถ้าสาเหตุมาจากพฤติกรรม เราก็แก้จากพฤติกรรมได้ค่ะ ก็ยังดีที่น้องไม่มีความจำเป็นต้องทานยานะคะ และอาการสมาธิสั้นเทียม ก็สามารถที่จะหายขาดได้ถ้ามีการดูแลรักษาที่ต่อเนื่องและทำด้วยความเข้าใจ”
ประโยคนี้ ทำให้คุณพ่อดูมีความหวัง จึงรีบถามครูพิมต่อว่าพอจะช่วยแนะนำอะไรได้บ้าง ครูพิมก็จัดเต็มสิคะงานนี้
อย่างแรกเลย พยายามหลีกเลี่ยงของเล่นเทคโนโลยี และไม่ปล่อยน้องไว้หน้าจอโดยไม่จำเป็นนะคะ การให้น้องได้เล่นของเล่นที่เป็นวัตถุจริง หรือเล่นกับคน จะเป็นการเล่นที่ดีที่สุด และหากมีของเล่นเยอะก็แนะนำให้คุณพ่อจัดเก็บเป็นสัดส่วน และให้เขาเล่นทีละชิ้น จะทำให้เขาได้ใช้สมาธิกับการเล่นของเล่นมากขึ้น และไม่วอกแวกง่ายค่ะ
พอพูดถึงตรงนี้ คุณพ่อก็แอบกระซิบว่า จริงๆ แล้วน้องมีของเล่นเป็นห้องส่วนตัวเลย เค้าเข้าไปก็จะเล่นอย่างละนับวินาทีได้ แหม่…ก็ของมันเยอะนี่คะ เป็นครูพิมก็คงเลือกไม่ถูกเหมือนกัน และนี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องจัดระเบียบการเล่นให้กับเขาค่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้เขาสมาธิแตกซ่านเข้าไปอีก
ว่าแล้วครูพิมก็ยิงคำถามต่อ “แล้วปกติน้องนอนดึกไหมคะ เพราะจริงๆ เรื่องการนอนก็มีความจำเป็นมากค่ะ และจากที่ครูพิมเคยแนะนำเรื่องนี้ให้กับผู้ปกครองหลายๆ ท่านแล้ว ค่อนข้างจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจริงๆ”
“อื่ม…ถ้าน้องนอนดึก แล้วให้ตื่นสาย ก็น่าจะทดแทนได้ใช่ไหมครับ”
แหม่ คุณพ่อมีการต่อรองด้วยค่ะ แต่ครูพิมก็ไม่สามารถที่จะรับข้อเสนอนั้นได้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับครูพิมหรอกค่ะ แต่เป็นเพราะ ร่างกายของคนเราต่างหาก ที่มีข้อจำกัดในตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของเวลานอน โดย ดร.เอริก้า เกย์ลอร์ นักวิจัยจากสถาบัน เอสอาร์ไอ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในผู้ที่ศึกษาเรื่องเวลาในการนอนของเด็กวัย 3-6 ปี ซึ่งผลจากการวิจัยของดร.เอริก้า พบว่า เด็กที่นอนไม่เพียงพอ หรือนอนน้อยกว่า 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ส่อแววเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นได้ง่ายๆ เนื่องจากมีภาวะเหนื่อยล้าสะสมจนสมองปรับให้ตัวเองมีภาวะตื่นตัวขึ้นมาทดแทน นอกจากนี้งานวิจัยและข้อมูลทางการแพทย์ต่างก็บอกตรงกันว่า ช่วงเวลาที่สมองมีการพักผ่อนและซ่อมแซมตนเองนั้น จะอยู่ที่เวลาประมาณ 4 ทุ่มถึง ตี 2 เพราะฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ชั่วโมงในการนอนเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่เวลาในการนอนด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กแต่ละวัยก็ต้องการเวลาในการนอนที่ต่างกัน และการฝึกให้นอนอย่างเป็นเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันค่ะ
หลังจากพูดเรื่องการเล่นและนอนแล้ว ครูพิมก็นึกถึงอีกหนึ่งเรื่องที่เคยแนะนำให้กับผู้ปกครองท่านอื่นๆ ที่นำไปลองทำแล้วได้ผลเช่นกัน นั่นคือเรื่องของอาหารการกิน
และจากที่ครูพิมเห็นว่าน้องอันอันดูมีรูปร่างสมส่วนดี ไม่อ้วนจนเกินไป จึงไม่ได้ทักเรื่องอาหารการกินมากนัก เพียงแต่เปรยๆ ออกมาว่า ถ้าเป็นไปได้อย่าให้ทานของขวานมาก เพราะอาหารที่มีรสหวาน จะกระตุ้นอาการสมาธิสั้นได้ เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่คำตอบที่คุณพ่อให้กับครูพิม มาพร้อมกับการส่ายหน้าพร้อมพูดว่า “ยุ่งเลยครับทีนี้ ของหวานนี่ของโปรดเลย ชอบมาก ทานทุกวัน โอย ทำไงดีทีนี้”
“ก็ต้องเลี่ยงนั่นหละค่ะ เพราะแม้จะไม่ได้มีผลต่อเรื่องสมาธิสั้นโดยตรง แต่ของหวานก็ส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วยนะคะ” และนี่คือคำตอบเดียวที่ครูพิมจะให้ได้
“สารภาพเลยนะครับ ที่คุณครูพูดมาทั้งหมด ไม่มีข้อไหนที่ผมทำถูกเลยซักข้อเดียว เดี๋ยวคงต้องต้องปรับกันครั้งใหญ่หละครับ” คุณพ่อน้องอันอันพูดอย่างจริงจังหลังจากจบการสนทนาในวันนั้น
ครูพิมคิดว่าคุณพ่อน้องอันอัน ก็อาจจะเป็นเหมือนกับผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีความกังวลเกี่ยวกับอาการสมาธิสั้นของเจ้าตัวเล็ก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือเขายังไง ความหวังของผู้ปกครองส่วนใหญ่อยู่ที่หมอบ้าง ยาบ้าง หรือเทวดาฟ้าฝนก็มี แต่ครูพิมอยากจะบอกว่า การปรับไลฟ์สไตล์เล็กๆ น้อยๆ อย่างที่ว่ามานี้ ทั้งการนอน การกิน การเล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรคุมได้ ก็สามารถที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการสมาธิสั้นของเจ้าตัวเล็กที่รักของพวกเราได้แล้วหละค่ะ แม้จะไม่ได้มากมายจนหายขาด แต่เชื่อเถอะว่า เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแน่นอน อย่างที่ครูพิมเห็นมาแล้วกับน้องๆ หลายๆ ครอบครัว สู้ๆ นะคะ ไม่มีใครจะช่วยเหลือและสนับสนุนลูกของเราไปได้ดีกว่าการที่เราได้ลงมือทำเองหรอกค่ะ พูดเลย…