เมื่อวานเราได้พูดกันแล้วในแง่ผลของการตีเด็กนะคะว่า สรุปแล้วการตีช่วยลดพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการให้เด็กทำได้จริงไหม? ผลที่ได้จากการเก็บข้อมูลก็คือ “ไม่จริง” เพราะนอกจากจะไม่ลดแล้ว ในแง่ของพฤติกรรมก้าวร้าวยังเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
——————————————
วันนี้เราจะมาพูดกันต่อในเรื่องของสาเหตุที่ทำให้การตีไม่ได้ผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูก และเพราะเหตุใด การตีจึงเป็นเรื่องต้องห้าม
มาที่คำถามแรกกันก่อนนะคะว่า
ทำไมตีเด็กแล้วพฤติกรรมที่เราต้องการจะหยุดหรือห้าม ถึงยังไม่หายไป
นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ได้ให้คำตอบไว้ว่า การทำโทษด้วยความเจ็บปวดนั้น จะได้ผลในระยะยาวก็ต่อเมื่อ การลงโทษนั้นเกิดขึ้นในทันทีทันใด หลังจากเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราจะไม่จับหม้อร้อนๆ อีกเลย เมื่อเราเคยเผลอไปโดนมันแล้วรู้ว่าร้อนมาก (ความร้อนทำให้เราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดในทันทีหลังจากเราจับหม้อ) แต่กรณีการลงโทษเด็กนั้น มันเป็นไปได้น้อยมากที่เราจะทำการลงโทษได้ทันทีเมื่อเด็กทำอะไรสักอย่างที่เราไม่พึงพอใจ
ที่พูดแบบนี้ ครูพิมไม่ได้หมายความว่างั้นก็ลงโทษทันทีสินะคะ เพราะต่อให้เราตียังไงก็ไม่ได้ผลอยู่ดี เนื่องจากเราไม่ได้ตัวติดกับเด็กตลอดเวลาขนาดนั้น และที่สำคัญคือ มีวิธีการอีกมากมายที่จะช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ได้ โดยที่เราไม่ต้องใช้การตี ซึ่งส่วนนี้ครูพิมได้ทยอยนำมาฝากกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้วนะคะ
คำถามต่อมาคือ
ทำไมการตีเด็กจึงควรเป็นเรื่องต้องห้าม
Darcia ได้สรุปถึงผลเสียของการตีเด็กไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ค่ะ
- การตีทำลายความไว้วางใจ เด็กที่ถูกตีจะถอยกลับมาสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้กับตัวเองและลดความสัมพันธ์กับผู้ที่ตีลง เมื่อเด็กมีความไว้วางใจน้อยลง ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาต่อคนๆ นั้น โดยอาจจะเลือกที่จะแสดงความก้าวร้าวออกมาก่อนที่จะถูกกระทำด้วย
- การตีทำลายสุขภาพจิต (ไม่น่าจะมีเด็กที่ถูกตีคนไหนรู้สึกดีหรือมีความสุขทางใจเพิ่มขึ้นหรอกจริงไหมคะ)
- การตีเป็นการเพิ่มอัตราการกระทำผิดกฎหมายและการต่ออาชญากรรม (เช่นอาจจะทำให้เกิดเหตุทีรุนแรงต่อมาจากการตีนั้นๆ )
- การตีส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ดูเหมือนเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กมากกว่าการอบรมสั่งสอน
เพราะครูพิมเชื่อว่า พ่อ แม่ ครูและผู้ปกครองทุกๆ คน ไม่มีใครอยากที่จะทำร้ายเด็กหรือลูกๆ ของตัวเอง เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าจะต้องอบรมสั่งสอนเขาด้วยวิธีใดก็เท่านั้น
แต่ในวันนี้ครูพิมคิดว่าผลการวิจัยและเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้เราหยุดคิดทุกครั้งก่อนที่จะทำการลงโทษใดๆ ในครั้งต่อไป
สำหรับวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้เราปรับพฤติกรรมของลูกๆ ได้อย่างง่ายดายและเป็นไปในทางบวก ครูพิมจะพยายามนำมาเผยแพร่ให้ทราบกันในโอกาสต่อๆ ไป ขอให้ติดตามกันได้ค่ะ
ด้วยรักและไม่อยากให้เด็กถูกตี
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก