ครูพิมทราบดีค่ะว่า การที่เราสามารถเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างชนิดที่คนอื่นเรียกว่า “เป็นเด็กดี” นั้น เป็นสิ่งที่นำความภาคภูมิใจมาให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน แต่ระหว่างทางที่จะไปถึงจุดนั้นได้ มันไม่มีสูตรสำเร็จ และคำว่า “เด็กดี” นั้น ก็ไม่รู้ว่ามีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอยู่ที่ตรงไหน
ดังนั้นพ่อแม่ต่างก็เลือกทำหนทางที่ “คิดว่า” น่าจะดีที่สุด ที่จะทำให้ลูกอยู่ในความคาดหวังของตนเองและสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนบางครั้งอาจจะเลยเถิดเกินพอดี โดยที่พ่อแม่เองก็ไม่รู้ตัว
หากคุณเคยสงสัยในตัวเองว่า
- เอ…เราเลี้ยงลูกเข้มงวดเกินไปมั้ยนะ?
- เอ…เรามีความคาดหวังในตัวลูกสูงไปหรือเปล่า?
- เอ…เราจำกัดอิสรภาพลูกมากไปไหม?
คำถามเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเลยค่ะ เพราะอย่างน้อยเราก็เริ่มที่จะสำรวจตัวเองบ้างแล้ว (นอกเหนือจากการสำรวจแต่ลูก) เพราะการที่เรามีความเข้มงวดกับเด็กสูงเกินไป จะนำมาซึ่งเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต แทนที่จะเป็น “เด็กดี” ธรรมดาๆ คนหนึ่งดังที่เราอยากจะให้เขาเป็น
ถ้าอย่างนั้น เรามาตรวจสอบ 7 สัญญาณ(อันตราย) ที่เตือนว่า คุณอาจจะเป็นผู้ปกครองที่เข้มงวด(เกินไป) กันดีกว่านะคะ เมื่อทราบแล้ว ไม่ต้องประกาศตัวออกมาก็ได้ ขอแค่ยอมรับอย่างเงียบๆ แล้วค่อยๆ แก้ไขก็พอค่ะ พร้อมแล้วก็มาเช็คกันเลย
1.) ลูกคุณชอบโกหก
เด็กๆ ทั่วไปมีการโกหก หรือพูดไม่ตรงความจริงบ้างพอเป็นเรื่องสนุกๆ ค่ะ แต่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า การถูกควบคุมหรือฝึกวินัยมากจนเกินไป จะทำให้เด็กสร้างเรื่องโกหก หรือพูดไม่ตรงความจริงในอัตราที่สูงกว่าปกติ เพราะการพูดความจริงบางอย่าง เขาอาจจะต้องถูกลงโทษ ดังนั้น สังเกตดูนะคะว่า ลูกคุณโกหกแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยหรือเปล่า? ถ้าใช่ ลองถามตัวเองค่ะว่า เราจำกัดความคิดหรือการกระทำของลูกมากเกินไปหรือไม่
2.) คุณรู้สึกไม่พอใจเมื่อคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกคุณขาดวินัย
ผู้ปกครองที่เข้มงวดส่วนใหญ่ จะรู้สึกทนไม่ได้หรือหงุดหงิด เมื่อพบว่าญาติผู้ใหญ่ ครู พี่เลี้ยง หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับลูกของเขา ไม่ได้สร้างวินัยหรือควบคุมเด็กๆ ให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่คุณตั้งไว้ ในโลกแห่งความเป็นจริง เด็กๆ มีโอกาสที่จะเจอผู้ใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเขาหลากหลายรูปแบบ และเจอกฎเกณฑ์ที่มาตรฐานแตกต่างกันไป เราไม่สามารถที่จะควบคุมโลกทั้งโลกให้เป็นไปตามกฎของเราได้ นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับค่ะ
3.) ลูกคุณไม่ค่อยมีเวลาสำหรับการเล่น
เวลาในการเล่นเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนเรื่องหนึ่งในการแยกระหว่างผู้ปกครองทั่วไป กับผู้ปกครองที่เข้มงวด หากคุณเป็นคนหนึ่งที่จัดตารางไว้ให้ลูกอย่างเรียบร้อยในแต่ละวัน ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยรู้สึกผิดหากปล่อยให้ลูกมีเวลาเล่นอิสระ ก็เป็นไปได้ว่า คุณจะจัดอยู่ในพ่อแม่กลุ่มนี้นะคะ และประเด็นสำคัญที่อยากฝากไว้ตรงนี้ก็คือ การเล่นอย่างอิสระ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการพัฒนาทักษะต่างๆ ในชีวิตของเด็กๆ ทุกคน ย้ำค่ะว่า “สำคัญมาก”
4.) คุณกำกับพฤติกรรมลูกแทบจะตลอดเวลา
คุณลักษณะหนึ่งของพ่อแม่สุดเข้มงวด คือความสามารถในการ “บอกกิจวัตรต่างๆ” ของลูก ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน “แปรงฟันได้แล้ว” “ล้างมือด้วย” “เอ้าหวีผมรึยังน่ะ” “ทำการบ้านสิ” “ไปฝึกเตะบอลได้แล้ว” “เอาหละปิดทีวีแล้วไปนอน” “ตายแล้วทำไมที่นอนยับแบบนี้” ฯลฯ จริงอยู่ค่ะที่คำพูดเหล่านี้ออกมาจากปากเราด้วยความเป็นห่วง แต่การกระทำแบบนี้ นอกจากจะไม่ใช่การฝึกวินัยที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้เด็กๆ ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการตัวเอง หรือดูแลตัวเองไม่ได้อีกด้วย และแน่นอน บางครั้งการพูดแบบนี้บ่อยๆ ก็ทำให้คุณเหนื่อยเปล่า (เพราะลูกไม่ทำอยู่ดี)
5.) คุณไม่เคยให้ทางเลือกกับลูก
พ่อแม่เชิงบวกอาจพูดว่า “จะทำการบ้านหรืออาบน้ำก่อนลูก” ในขณะที่พ่อแม่ที่เข้มงวดเลือกที่จะบอกว่า “ไปอาบน้ำซะแล้วลงมาทำการบ้าน” หากคุณคิดว่า เด็กนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดหรือตัดสินใจด้วยตนเอง คุณอาจจะเป็นหนึ่งผู้ปกครองจอมเฮี้ยบก็ได้ค่ะ และในความเป็นจริง เด็กมีอิสระในการที่จะคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งหากเรากลัวว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง การเสนอทางเลือกให้กับเด็ก จากสิ่งที่เราเห็นว่าเหมาะสมแล้วนั้น ก็เป็นแนวทางที่ควรเลือกใช้แนวทางหนึ่งค่ะ
6.) คุณทนไม่ได้กับความไร้สาระหรือการเล่นสนุกของเด็กๆ
โดยปกติแล้ว เด็กๆ ทุกคนมีทักษะในการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะสูง แต่พ่อแม่ที่เข้มงวดจะทนแทบไม่ได้ หากลูกเล่าเรื่องตลก (ที่ไม่ตลก) ให้ฟัง หรือชวนเล่นเกมอย่าง ตบแปะ หรือ ซ่อนหา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากความปรารถนาของคุณคือ ต้องการให้ลูกมีความสุข คุณแทบจะไม่ต้องพยายามทำอะไรมากมายเลยนอกจาก “เล่นไปกับเขา”
7.) คุณให้รางวัลกับผลลัพธ์ไม่ใช่ความพยายาม
เรื่องนี้ครูพิมค่อนข้างอยากนำเสนอเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนจากเด็กที่รุ่งโรจน์ ให้กลายเป็นเด็กที่รุ่งริ่งได้ในพริบตา พ่อแม่หลายกังวลมากกว่า ลูกได้เกรดอะไร ลูกเรียนได้ดีเท่าคนอื่นไหม ลูกทำอย่างนั้น อย่างนี้ตามเป้าได้หรือเปล่า เราสนใจจากการเปลี่ยนแปลงจาก จุด A ไปจุด B (หรือบางคนอยากให้ไปถึง Z เลย) โดยที่ไม่ได้ประเมินที่พัฒนาการเฉพาะตัวของลูก พ่อแม่ที่เข้มงวด มักตั้งธงไว้ว่า เด็กจะได้รางวัลก็ต่อเมื่อทำตามความคาดหวังได้เท่านั้น เช่น สอบได้ 100 เต็ม แข่งขันกีฬาได้ที่ 1 พูดภาษาที่ 3 ที่ 4 ได้ ซึ่งการตั้งเงื่อนไขที่สูงเกินไปและไม่โฟกัสที่การพัฒนาเช่นนี้ อาจทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่จะรักตนก็ต่อเมื่อตนสร้างความสำเร็จได้เท่านั้น ซึ่งความคิดนี้อาจก่อให้เกิดเด็กที่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือไม่ก็อาจจะทำให้เด็กมีความเครียดสูงเพรากลัวว่าพ่อแม่จะไม่รักนั่นเองค่ะ
ครูพิมหวังว่า สัญญาณ 7 ข้อนี้ จะเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ ทำความเข้าใจกับการ “ดูแลเอาใจใส่” ลูก ในมุมมองใหม่ เป็นมุมมองของความเข้าใจ ไม่ใช่การจำกัด ท้ายนี้ครูพิมขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคน ในการถ่ายทอดความรักและความปรารถนาดีไปให้กับลูกได้ตามที่ตั้งใจไว้นะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ