ชีวิตของการเป็นพ่อแม่นั้น ไม่ง่ายเลยใช่ไหมล่ะคะ และในทุกๆ วัน ก็เหมือนกับว่าเรายุ่งกับธุระของลูกๆ จนเหมือนจะไม่มีเวลาให้กับตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทั้งการกิน การนอน การขับถ่าย การบ้าน รวมไปถึงงานบ้านงานเรือน และงานส่วนตัว ทุกอย่างดูลงตัว ชีวิตดูดำเนินไปได้ด้วยดี และครูพิมก็มั่นใจว่าบรรดาผู้ปกครองทุกท่านต่างก็ทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ด้วยความรักกันอย่างแน่นอน
แต่ทว่า…รูปแบบชีวิตที่วนเวียนในลักษณะของ “กิจวัตรประจำวัน” แบบนี้ อาจไม่ได้ทำให้เกิดความทรงจำที่ดี หรือเกิดเป็นความผูกพันและการรับรู้ถึงความรักที่คุณมีต่อพวกเขาเท่าที่ควร เพราะเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ยังไม่มีความสามารถในการเข้าใจเหตุผล หรือตีความสิ่งที่เราทำให้ว่ามาจากความรัก เพราะความรักที่เด็กๆ เข้าใจนั้น ต้องอาศัยทั้งเวลา ความเข้าใจ และการแสดงออกให้เห็นในรูปแบบที่เขาต้องการ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้น่าตกใจไปค่ะ เพราะบางคนอาจจะกุมขมับแล้วอุทานกับตัวเองไปแล้วว่า “ฉันทำขนาดนี้แล้วลูกยังไม่รู้อีกหรือ ยังต้องทำอะไรอีก”
ใจเย็นๆ กันก่อนนะคะ เพราะวันนี้ ครูพิมได้รวบรวมเอาเทคนิคบอกรักให้ลูกเข้าใจจากการรวบรวมข้อคิดและข้อแนะนำผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของครูพิมเอง มาฝากกันไว้ที่นี่แล้วหละค่ะ รับรองว่า ทุกเทคนิคนั้นเป็นอันว่า “เด็กรู้เรื่อง” และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเพิ่มเติมไปจากเดิมมากมายด้วย
พร้อมแล้วก็มารู้จักกับ 10 วิธีบอกรักลูกด้วยภาษาที่ลูกเข้าใจ ไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ
1) บอกรักลูกบ่อยๆ :
การบอกรักลูกๆ ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยค่ะ และไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เสียศักดิ์ศรี หรือเสียการปกครองแต่อย่างใด แถมครูพิมบอกได้เลยว่า เวลาที่เด็กๆ บอกรักเรากลับมานี่มันชื่นใจกว่าเดิมอีกหลายเท่าเลย เรียกว่าเป็นวิธีที่ง่ายและให้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่งเลยหละค่ะ
2) ให้ความสนใจเวลาที่ลูกพูดด้วย :
การที่เด็กเลือกที่จะพูดหรือเล่าอะไรบางอย่างให้เราฟัง เป็นวิธีการแสดงออกถึงการที่เขาไว้ใจและให้ความสำคัญกับเรานะคะ แต่หลายคนอาจละเลยและอาจพาลไปจนถึงการแสดงอาการเบื่อหรือบ่นเวลาที่ลูกชวนคุยซ้ำๆ ซึ่งการทำแบบนี้อาจเป็นการตัดความสัมพันธ์กับเด็กโดยที่คุณไม่รู้ตัว และในความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่ได้ต้องการให้เรามานั่งฟังหรือพูดคุยกับเขาเป็นเรื่องเป็นราวหรอกค่ะ เพียงแค่การพยักหน้า มองหน้า โต้ตอบบ้างเป็นบางครั้ง ก็เพียงพอแล้วหละค่ะ และโดยเฉพาะเด็กวัย 2-3 ปี การที่เขาชวนคุยนั้น ก็เป็นเพราะเขากำลังอยู่ในวัยที่พัฒนาการทางภาษากำลังก้าวกระโดดนั่นเองค่ะ และเมื่อเขาหมดเรื่องคุย เขาก็จะเปลี่ยนความสนใจหรือเปลี่ยนกิจกรรมไปเอง
3) เล่นกับลูกบ้าง :
ครูพิมได้รับข้อมูลจากทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ และบรรดาครูๆ หมอๆ มาพอสมควรในประเด็นที่ว่า ผู้ปกครองเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเล่นกับลูก ครูพิมไม่อาจยืนยันได้นะคะว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ที่บอกได้ว่าจริงแท้แน่นอนก็คือ การเล่นกับเด็ก เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นการบอกรักที่เด็กๆ รับรู้ได้ง่ายที่สุด โดยข้อตกลงก็คือ การเล่นนั้นคือการเล่นไปกับเด็ก เล่นเหมือนเป็นเด็ก เล่นโดยที่ไม่ต้องคิดว่าเรากำลังอยู่ในบทบาทของพ่อหรือแม่ ไม่ใช่การบังคับให้เล่น หรือมองว่าการเล่นต้องเป็นกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาเท่านั้น เพราะการเล่น ไม่ว่าจะแบบใด ก็มีคุณค่าในตัวเองของมันเองอยู่แล้วค่ะ (ประเด็นนี้ไว้จะเขียนให้อ่านกันยาวๆ ในตอนต่อๆ ไปนะคะ)
4) พูดขอโทษหากเราเป็นผู้ที่ทำผิด :
ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ ว่าการยอมรับผิดก็เป็นการบอกรักได้ด้วย แต่ครูพิมคิดว่า การที่เรากล้าบอกลูกว่าเราเป็นคนผิดนี่หละค่ะ ที่ทำให้เด็กเกิดความไว้ใจและศรัทธาในตัวเรามากขึ้น
5) สัมผัสลูก(ด้วยความรัก) :
อย่างที่บอกเลยค่ะ การสัมผัสตัวลูก ไม่ว่าจะด้วยการกอด การลูบหัว ลูบหลัง การจับหรือหอมแก้มบ้างเป็นครั้งคราว เป็นการแสดงออกถึงความรักที่ทั้งอ่อนโยน และให้คุณค่าทางใจได้มากทีเดียว แต่อย่าลืมนะคะว่า ขอให้ทำด้วยความเอ็นดูค่ะ การสัมผัสด้วยการตีหรือทำร้ายร่างกายนี่ ไม่นับนะคะ หุหุหุ
6) หัวเราะไปกับความตลกของลูก :
เด็กๆ กับความตลกเป็นสิ่งที่มาด้วยกันอยู่แล้วนะคะ แต่สิ่งเหล่านี้อาจหายไป (พร้อมกับความรู้สึกดีๆ ) หากสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องไร้สาระหรือน่ารำคาญสำหรับคุณ เพราะฉะนั้น มาหัวเราะไปกับความน่ารักน่าเอ็นดูของเขาดีกว่าค่ะ เพราะเชื่อเถอะว่า ไอความที่ว่าทำอะไรก็ดูน่ารักน่าเอ็นดูไปหมดเนี่ย มันไม่ได้มีให้เราดูนานนักหรอกค่ะ เชื่อเถอะ…
7) สนใจกับสิ่งที่ลูกทำให้:
เด็กเล็กๆ จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานต่างๆ ที่เขาทำมากค่ะ (แม้จะเป็นเพียงกระดาษที่ขีดๆ ไม่กี่ครั้งก็ตาม) และการที่เขาเลือกที่จะทำมันให้กับเราโดยเฉพาะนั้น เป็นการแสดงความรักที่บริสุทธิ์มากของเขา เพราะโดยพื้นฐานแล้วเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงก่อน 5 ขวบ จะหวงของมาก แต่หากว่าสิ่งที่เขาทำให้คุณนั้น ไม่ได้รับความสนใจ หรือถูกมองว่าเป็นของ “ธรรมดาๆ ทั่วไป” เด็กอาจะรู้สึกว่าคุณไม่เห็นคุณค่าในตัวเขาได้ค่ะ
8) ชมเชยลูกต่อหน้าคนอื่นบ้าง :
การกล่าวถึงความดี ความน่ารัก หรือสิ่งที่คุณพึงพอใจในตัวของลูกต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนๆ ของพวกเขาบ้างเป็นครั้งคราว ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรักและความภาคภูมิใจในตัวเขาได้ดีทีเดียวเลยค่ะ และยังทำให้เขารู้สึกดีที่จะทำสิ่งดีๆ เหล่านั้นต่อไปอีกด้วย
9) ใช้เวลาส่วนตัวกับลูกสองต่อสอง :
ออกไปใช้เวลาส่วนตัวด้วยกัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าการเดทนั้น อาจจะพบได้น้อยหน่อยในครอบครัวแบบไทยๆ แต่ครูพิมเห็นว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจและให้ประโยชน์ทางใจกับเด็กมากทีเดียวค่ะ เพราะเด็กจะรู้สึกถึงความผูกพันจากการได้ใช้เวลากับพ่อหรือแม่อย่างเต็มที่ และยังเป็นวิธีที่ทำให้คุณกับลูกมีความสนิทสนมกับมากขึ้นอีกด้วย
10) ยิ้มให้กับลูกบ่อยๆ :
ข้อสุดท้ายที่ครูพิมอยากจะฝากนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดเลยก็ว่าได้ค่ะ นั่นก็คือ “การยิ้ม” นั่นเอง เพราะการยิ้มเป็นตัวแทนของความรู้สึกดีๆ ได้มากมาย และนอกจากเด็กๆ จะรู้สึกดีกับรอยยิ้มของเราแล้ว ตัวของเราเองก็จะรู้สึกดีกับลูกมากขึ้นด้วยค่ะ