ช่วงนี้ครูพิมนั่งอ่านคอลัมน์เกี่ยวกับเด็กๆ ในเว็บไซต์ต่างประเทศค่อนข้างเยอะพอสมควร และมีอยู่หัวข้อหนึ่งเกี่ยวกับเด็กที่ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้ปกครอง และครูใส่ใจเป็นพิเศษ จนอาจจะพูดได้ว่ามีการสอนเด็กๆ ในเรื่องนี้กันอย่างปกติ แต่ในประเทศไทยเรากลับพบการพูดคุยในเรื่องนี้กันน้อยมาก นั่นก็คือเรื่องของ “Body Safety Part” หรือการสอนให้เด็กๆ รู้จักปกป้องตัวเองจากการถูกคุกคามทางเพศนั่นเองค่ะ
และจากข้อมูลที่ได้ บวกกับประสบการณ์ส่วนตัว (ที่เคยสอนเด็กๆ นะคะ ไม่ใช่เคยเจอมา อุอุ ) เลยอยากจะขอนำมาแบ่งปันคุณพ่อคุณแม่ได้อ่านและทำความเข้าใจไปด้วยกันค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการสอนเด็กเล็กๆ ให้รู้จักดูแลตัวเองในเรื่องนี้ เราจะไม่ใช้วิธีการมานั่งอธิบายยืดยาวนะคะว่า ทำไมหนูต้องดูแลส่วนนั้น ส่วนนี้ การถูกคุกคามหมายถึงอะไร หนูต้องดูแลตัวเองไม่ให้แปลกหน้ามาทำอะไรนะ เนื่องจากบางครั้งการอธิบายที่ยืดยาวและกำกวม นอกจากเด็กเล็กๆ จะไม่สามารถเข้าใจได้แล้ว ยังอาจไม่เกิดการรับรู้และจดจำสิ่งที่เราสอนอีกด้วย
วิธีการที่ครูพิมจะแนะนำต่อไปนี้ เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กวัย 3- 8 ขวบ โดยประมาณค่ะ ซึ่งเด็กวัยนี้อาจจะต้องมีช่วงเวลาที่ต้องห่างคุณพ่อคุณแม่บ้าง เช่นการไปโรงเรียน การไปบ้านญาติ บ้านเพื่อน ที่ไกลหูไกลตาคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ยังไม่โตพอที่จะเข้าใจเจตนาของคนอื่นที่อาจต้องการมาคุกคามและยังไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ และแน่นอนว่า ในฐานะนักจิตวิทยาเด็ก การสอนของเราจึงไม่ใช่การสอนแบบทั่วๆ ไป ซึ่งอาจไม่ได้ผล แต่เราจะใส่ความเข้าใจในพัฒนาการและลักษณะของเด็กแต่ละช่วงวัยเข้าไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราจะเลือกสอนให้เด็กๆ ในวัยนี้นั้น จะผ่านวิธีการนำเสนอที่เป็นการพูดคุยแบบธรรมดาๆ คั่นระหว่างการเล่นสนุกกับลูก หรือท่องเป็นกฎก่อนนอน ทบทวนด้วยการลองพูดสมมติเหตุการณ์บ้างในบางครั้ง เพื่อให้เด็กๆ รู้จักการเอาตัวรอดในเบื้องต้น โดยตัวอย่างคำพูดที่เราจะนำมาใช้สอนเด็กๆ ให้เข้าใจและนำไปใช้ได้ง่ายที่สุด ก็มีดังนี้นะคะ
กฎทอง 7 ข้อ สร้างความปลอดภัยให้เด็ก
1) “นอกจากพ่อ/แม่และ(ชื่อคนที่ไว้ใจได้)แล้ว หนูอย่าให้ใครมาจับอวัยวะในพื้นที่ส่วนตัวของหนูได้นะคะ/ครับ”
2) “เราเองก็จะไม่จับหรือเล่นอวัยวะในพื้นที่ส่วนตัวของเพื่อนๆ เหมือนกันนะคะ/ครับ รู้ไหมลูก”
3) “เราจะไม่ให้คนอื่นมาถ่ายรูปอวัยวะในพื้นที่ส่วนตัวของเรานะลูก”
4) “เราจะเล่นหรืออยู่กับคนอื่นตอนที่เราใส่เสื้อผ้าอยู่เท่านั้นนะคะ/ครับ”
5) “เวลาที่หนูถอดเสื้อผ้าได้ก็หนูคือ เวลาอาบน้ำ/เวลาเปลี่ยนเสื้อผ้าและเวลาเข้าห้องน้ำแค่นั้นนะคะ/ครับ” (หรือบางกรณีอาจรวมเวลาพบแพทย์ด้วยก็ได้ค่ะ)
6) “ถ้าใครไม่ทำตามกฎที่แม่สอน ให้หนูพูดว่า”ไม่”ดังๆ และวิ่งหนีจากเขาไปเลยนะลูก”
7) “ถ้ามีคนมาบอกหนูว่า “อย่าบอกเรื่องนี้กับใครนะ” ให้หนูรีบมาบอกพ่อ/แม่ ได้เลย ว่าเขาพูดหรือว่าทำอะไรกับหนู”
*อธิบายศัพท์ อวัยวะในพื้นที่ส่วนตัว = อวัยวะเพศ/หน้าอก/ก้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถบอกเด็กๆ ตามศัพท์ที่บ้านนั้นๆ ใช้เรียกได้เลยค่ะ โดยใช้คำที่เด็กเข้าใจมากที่สุดเป็นหลักค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ กับกฎ 7 ข้อ ที่ครูพิมนำมาประยุกต์ในมุมมองของนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปใช้สอนเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยจากการถูกคุมคามทางเพศ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถทบวนความเข้าใจของลูกได้ โดยการถามว่า “ตรงไหนบ้างนะคะ ที่แม่เคยสอนว่า ไม่ให้คนอื่นมาจับ/ถ่ายรูป/ดู” ซึ่งทั้งหมดนี้ให้เราสอนด้วยน้ำเสียงจริงจังแต่ไม่ใช่การ “ดุ” นะคะ เพราะการใช้น้ำเสียงหรือการสอนที่เสมือนการลงโทษ เด็กอาจเข้าใจผิดคิดว่าอวัยวะเหล่านั้นเป็นส่วนที่ไม่ดี หรือทำให้เกิดอันตราย ซึ่งจะนำไปสู่การรู้สึกผิดหรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเองได้ค่ะ ซึ่งจะผิดไปจากเจตนาที่เราตั้งใจจะสอนเขานะคะ เรื่องของวิธีการสอนจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับสิ่งที่เราจะสอนค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก