Zootopia หรือในชื่อไทยว่านครสัตว์มหาสนุก เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องล่าสุดที่ครูพิมเพิ่งได้ไปดูมาค่ะ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโลกในอนาคตที่มีเพียงสัตว์ชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ใช้ชีวิตเหมือนกับมนุษย์ และไม่มีการแบ่งแยกผู้ล่าและเหยื่ออย่างที่เกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้ Zootopia ยังเป็นเมืองที่ทุกคนเชื่อว่า “เราทุกคนสามารถเป็นได้ทุกอย่างในซูโทเปีย”จะเรียกว่าเป็นโลกในอุดมคติก็คงจะไม่ผิดนักค่ะ ซึ่งเหตุการณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการ์ตูนที่มีเรื่องราวสนุกสนาน และมีตัวละครที่น่ารักเท่านั้น แต่ทว่ายังมีข้อคิดและปรัชญาที่น่าสนใจแฝงอยู่ไม่น้อย กระแสของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้มีบทวิจารณ์ในเชิงบวกกันออกมามากมาย แต่ครูพิมคิดว่า ยังมีอีกหลายแง่คิด ที่ยังไม่ได้ถูกนำเสนอ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแง่คิดที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ และครอบครัว ที่ครูพิมเห็นว่าหากได้นำมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ร่วมคิดไปด้วยกัน ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย ถ้าอย่างนั้นแล้ว เรามาดูไปพร้อมๆ กันเลยนะคะว่า ฉากหรือตอนใดในภาพยนตร์ให้ข้อคิดอะไรกับเราบ้าง หมายเหตุ การวิจารณ์ในบทความนี้มีบางส่วนที่เป็นเนื้อหาในภาพยนตร์ด้วยนะคะ สำหรับใครที่กลัวจะถูกสปอยล์ แนะนำให้ไปดูภาพยนตร์มาก่อนค่อยมาอ่านก็ได้ค่ะ หรือถ้าใครพร้อมจะอ่านแล้ว ก็มาเริ่มกันเลยนะคะ
1) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่) ให้รู้ว่า “หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่เพียงผู้ปกป้องเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ปลดปล่อยอีกด้วย”
ในเรื่องนี้ จูดี้ ฮอปส์ (Judy Hopps) กระต่ายสาวซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่วัยเด็กว่า จะเป็นกระต่ายตัวแรกที่ได้เป็นตำรวจ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ไม่มีสัตว์ตัวเล็กชนิดใดที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน และการไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ดูจะเกินฝัน ซึ่งแม้ว่าพ่อและแม่ของจูดี้จะรู้สึกเป็นห่วง โดยพยายามที่จะชักชวนให้จูดี้อยู่กับความเป็นจริง คือการเป็นคนปลูกแครอทที่บ้านเกิดอย่างพ่อกับแม่ แต่เมื่อลูกแสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า พ่อกับแม่ของจูดี้ก็ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือตามกำลังที่จะทำได้ โดยจะสังเกตได้จากฉากที่จูดี้กำลังจะขึ้นรถไฟ พ่อกับแม่ได้ให้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการทำให้ลูกทำหน้าที่ตำรวจได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น พร้อมทั้งบอกว่ามีความภูมิใจในตัวลูกมากแค่ไหน ครูพิมคิดว่าในจุดนี้ค่อนข้างท้าทายความรู้สึกของพ่อแม่มากทีเดียวค่ะ เพราะเราต่างก็ไม่อยากให้ลูกต้องไปเสี่ยงกับอันตรายหรือผจญภัยตามลำพัง แต่ความจริงก็คือ เราไม่อาจนำชีวิตของลูกมาเป็นหนึ่งในสมบัติส่วนตัวของเราได้ตลอดไป พ่อกับแม่ของจูดี้จึงเลือกทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นก็คือการที่ยอมปล่อยมือที่ดึงลูกไว้ ให้กลายเป็นมือที่คอยดันอยู่ข้างหลัง ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกได้เติบขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์และได้เผชิญโลกแห่งความเป็นจริงอย่างแข็งแกร่งนั่นเองค่ะ
2) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่) ให้รู้ว่า “การพูดคุยกับลูกถึงชีวิตในแต่ละวัน คือการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด”
นิค สุนัขจิ้งจอกตัวนำในเรื่อง เป็นอีกตัวละครที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจและให้ข้อคิดกับพ่อแม่ๆ ได้ไม่น้อยค่ะ แต่ครูพิมเชื่อว่า หลายๆ คนคงเกิดคำถามว่า เอ๊ะ ในเรื่องไม่มีฉากไหนเลยนี่นาที่พูดถึงพ่อกับแม่ของนิค ที่จริงแล้ว เรื่องราวขอพ่อและแม่ของนิคก็ไม่มีให้เห็นจริงๆ นั่นหละค่ะ แต่นี่ยิ่งทำให้ครูพิมอยากจะนำมาเล่า เพื่อให้เราได้ลองคิดตามไปด้วยกัน โดยในเรื่องนั้น มีฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เพราะอะไร นิค สุนัขจิ้งจอกหนุ่มน้อยที่เคยมีความฝันว่าอยากจะเป็นยุวกาชาด จึงกลายสภาพมาเป็นโจรเจ้าเล่ห์ได้ในภายหลัง นั่นก็เป็นเพราะว่า ในตอนเด็กนั้น นิค ได้ถูกเพื่อนๆ ที่เคยสัตว์ประเภทเหยื่อนั้น ทำร้ายและดูถูกว่า สุนัขจิ้งจอกที่เป็นผู้ล่าแสนเจ้าเล่ห์นั้น ไม่สามารถจะเป็นยุวกาชาดที่ดีได้หรอก ทำให้นิคเกิดความรู้สึกแย่จนเปลี่ยนความตั้งใจ และคิดว่าเมื่อใครๆ บอกว่าสุนัขจิ้งจอกนั้นไม่มีทางที่จะเป็นสัตว์ที่ดีได้ ก็จะทำให้เป็นจริงอย่างที่สัตว์ตัวอื่นๆ พูด ในความเป็นจริงแล้ว ครูพิมคิดว่า นิคอาจจะไม่กลายเป็นผู้ร้ายจอมเจ้าเล่ห์ หากว่าพ่อกับแม่ของนิค ใช้เวลาวันละนิดในการพูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน พ่อกับแม่ย่อมรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับนิค และสามารถที่จะให้การช่วยเหลือหรือปรับความเข้าใจให้ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ นี่หละค่ะ ที่สามารถช่วยเหลือเด็กๆ มาได้มากมายหลายคนแล้ว แต่มักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไป
3) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่) ให้รู้ว่า “การเป็นเบาะที่รองรับเมื่อลูกล้ม มีความสำคัญไม่แพ้การเป็นมือที่ดันให้ลูกยืน”
ในช่วงท้ายของเรื่อง จูดี้ เกิดความผิดหวังกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และรู้สึกว่าตนได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดไปอย่างใหญ่หลวง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับจูดี้เมื่อกลับมาที่บ้านนั้น คือการต้อนรับที่อบอุ่น การปล่อยเวลาให้พักใจ การไม่พูดถึงในความผิดพลาดที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ทั้งในแง่ของการปลอบใจ และการตำหนิซ้ำเติม ซึ่งนี่คือสิ่งที่ครูพิมอยากจะให้เกิดขึ้นกับในทุกครอบครัว นั่นคือ แสดงให้ลูกรู้ว่า ครอบครัวจะเป็นที่ทีปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจกับลูกเสมอ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นกับลูกก็ตาม เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะทำให้พวกเขาผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างสวยงามค่ะ
4) เรื่องนี้สอน (พ่อแม่และทุกคน) ให้รู้ว่า “คนที่ไม่ได้รับความสนใจมากที่สุด จะเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีที่เลวร้ายมากที่สุดเช่นกัน”
อีกหนึ่งตัวละครที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็คือ เบลล์เวทเธอร์ อดีตแกะน้อยน่ารักที่ผันตัวมาเป็นแกะสาวจอมแสบ จากการอัดอั้นตันใจ ที่ไม่ได้รับความสนใจและให้คุณค่า ทั้งที่มีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยนายกเทศมนตรี ด้วยเพราะเธอเป็นเพียงแกะสาวน้อย ในกลุ่มสัตว์นักล่าตัวใหญ่ ซึ่งกรณีของ เบลล์เวทเธอร์นี้ ก็ชวนให้ครูพิมนึกถึงบทความที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ ที่ว่า”เด็กที่ต้องการความรักมากที่สุด มักจะแสดงความต้องการด้วยวิธีที่ไม่น่ารักมากที่สุดเช่นกัน” นั่นเองค่ะ
ที่จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีความสนุกสนานและข้อคิดในแง่มุมอื่นๆ อีกหลายอย่างทีเดียวค่ะ แต่ครูพิมขออนุญาตยกมาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ ครอบครัว และเด็ก ซึ่งผู้ชมหลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป หรือคิดไม่ถึงว่ามีมุมแบบนี้อยู่ด้วยเหรอนี่ หวังว่าข้อคิดที่ครูพิมนำมาบอกเล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่าน โดยเฉพาะกับเด็กๆ บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในภาพยนตร์เรื่องต่อไปค่ะ 🙂
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก