ภาพยนตร์เรื่อง Wonder หรือชีวิตมหัศจรรย์วันเดอร์ เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ออกัสต์ (อ๊อกกี้) พูลล์แมน หนุ่มน้อยวัย 10 ขวบ ผู้เกิดมาพร้อมความผิดปกติบนในหน้าจากโรงปากแหว่งเพดานโหว่ แต่ความโชคดีของอ๊อกกี้ก็คือการมีครอบครัวที่แสนอบอุ่นและเต็มไปด้วยพลังบวก ทว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เด็กทุกคนไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่กับแค่คนในครอบครัวได้ตลอดไป สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก คงพอจะทราบกันดีว่าการปรับตัวของเด็กธรรมดาๆ เวลาไปโรงเรียนอนุบาลครั้งแรก ก็ว่ายากแล้วใช่ไหมล่ะคะ แต่สำหรับอ๊อกกี้ การที่จะก้าวสู่โลกใบใหม่และใหญ่มากอย่างโลกที่เรียกว่า “โรงเรียน” ครั้งแรกด้วยอายุในวัยประถมปลายนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ครูพิมพูดได้เลยว่า ไม่ได้ดีแค่ในเชิงการเป็นภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงหรือแค่สร้างแรงบันดาลใจเท่านั้น แต่ทว่ายังแฝงข้อคิดและแนวทางในการเลี้ยงดูลูกได้อย่างสวยงามและแนบเนียน วันนี้ครูพิมจึงขอรวบรวมแง่คิดจากภาพยนตร์บางฉากบางตอนมาเล่าสู่กันฟังค่ะ หมายเหตุ การวิจารณ์ในบทความนี้มีบางส่วนที่เป็นเนื้อหาในภาพยนตร์ด้วยนะคะ สำหรับใครที่กลัวจะเป็นการสปอยล์เนื้อเรื่อง ครูพิมแนะนำให้ไปดูภาพยนตร์มาก่อนค่อยมาอ่านก็ไม่ว่ากันค่ะ
1) ลูกก็เปรียบเสมือนจรวด…ที่วันหนึ่งต้องออกจากฐาน
ครูพิมไม่แน่ใจว่า การเปิดเรื่องด้วยภาพจรวดที่พุ่งทะยานสู่อวกาศ และการวางบทให้หนุ่มน้อยอ๊อกกี้มีความใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักบินอวกาศนั้น เป็นเจตนาของผู้เขียนที่จะให้มุมมองในแบบที่ครูพิมเห็นหรือไม่ แต่สำหรับครูพิมแล้ว การเริ่มภาพยนตร์ด้วยฉากที่แสดงถึงการตัดสินใจส่งอ๊อกกี้เข้าโรงเรียนครั้งแรกในวัย 10 ปี นับว่าเป็นความท้าทายของทั้งผู้เป็นแม่ และตัวของเด็กเองไม่น้อยค่ะ แม้ว่าอ๊อกกี้จะสามารถเรียนแบบโฮมสคูลได้ไปจนโต แต่การยอมรับความจริงว่าลูกต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญกับโลกภายนอกที่เขาจะต้องอยู่ด้วยตัวเองในสักวันหนึ่ง นับว่าเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวมากของผู้เป็นแม่ และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ทำให้จรวดอย่างอ๊อกกี้ได้มีโอกาสปลดปล่อยศักยภาพของตัวเอง ซึ่งไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่ต่างก็อยากพุ่งทะยานเพื่อค้นหาเป้าหมายของตัวเอง แล้วรอการชื่นชมจากทีมผู้สร้างที่เรียกว่า “ครอบครัว” เมื่อจรวดนั้นได้ไปถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจ
2) หัวใจสำคัญของการเป็นครู ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ แต่อยู่ที่ความรัก
ฉากหนึ่งที่ครูพิมรู้สึกประทับใจจนอดที่จะเอามาเล่าให้ฟังไม่ได้ ก็คือฉากแนะนำตัวของครูทูชแมน ครูใหญ่ผู้ซึ่งเป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของคนเป็นครู นั่นก็คือ “การรู้ใจเด็ก”
ในเรื่อง ครูทูชแมนทักทายอ๊อกกี้ในวันแรกของการเปิดเรียน ด้วยการบอกว่าชื่อของตัวเองนั้นช่างน่าขันแค่ไหน และตัวเองถูกล้อเลียนจากบรรดาเด็กๆ ในโรงเรียนอย่างไร นี่คือวิธีการหนึ่งที่ทำให้เด็กที่มีความแตกต่างอย่างอ๊อกกี้ รู้สึกดีกับตัวเองได้อย่างง่ายดาย แทนที่จะต้องรู้สึกว่า “ฉันช่างน่าสงสารและต้องการการปกป้อง” นอกจากนี้ วิธีการ “ช่วยสร้างเพื่อน” ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ครูสามารถใช้เพื่อช่วยเด็กที่มีความต้องการพิเศษในการปรับตัวเข้าสู่สังคมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
3) เด็กที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักที่สุด คือเด็กที่ต้องการความรักมากที่สุด
เรื่องของการล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า Bully เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราคาดเดาได้ว่า จะต้องมีให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแน่นอนใช่ไหมล่ะคะ แต่ความมหัศจรรย์ของมุมมองในการนำเสนอพฤติกรรมนี้ของหนังเรื่องนี้ มันช่างได้ใจครูพิมไปเต็มๆ เสียเหลือเกิน เพราะมันได้ถ่ายทอดความคิดที่ครูพิมพยายามที่จะสื่อสารให้กับทั้งผู้ปกครองและครูได้ตระหนักถึงอยู่เสมอ นั่นก็คือ มุมมองของเด็กที่ “เป็นผู้ร้าย” (ในสายตาคนทั่วไป)
พฤติกรรม Bully เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความอ่อนแอ 2 ประเภท นั่นคือ ความอ่อนแอทางกายหรืออาจจะทางสติปัญญาของผู้ถูกแกล้ง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง มันก็จะได้สื่อถึงความอ่อนแอทางจิตใจของผู้ที่ทำพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งประเด็นหลังนี้ กลับมีน้อยคนที่คดจะช่วยเหลือหรือให้ความเห็นใจ
แน่นอนว่า ครูพิมกำลังพูดถึงพฤติกรรมเหล่านี้ที่เกิดขึ้นใน “เด็ก” ผู้ซึ่งสภาพแวดล้อมในครอบครัวส่งผลต่อพฤติกรรมของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่เราจะเห็นจากตัวละครจูเลียน เด็กหนุ่มหน้าตาดีมีฐานะ แต่กลับเป็นหัวโจกในการล้อเลียนความผิดปกติของอ๊อกกี้ นั่นเพราะความสนุกอย่างเดียวหรือ? เปล่าเลย แต่มันเป็นเพราะความสมบูรณ์แบบของเขานั้นเป็นเพียงเปลือกนอก แต่ความไม่สมบูรณ์ในใจของเขาต่างหากที่เป็นเรื่องจริง
ในตอนท้าย ฉากที่ครูทูชแมน ไม่สามารถช่วยให้พ่อแม่ของจูเลียนปรับทัศนคติของตนในเรื่องวิธีการเลี้ยงลูกในลักษณะ “พ่อแม่รังแกฉัน” ได้ (ในเรื่องนั้นจูเลียนถูกจับได้ว่ากลั่นแกล้งอ๊อกกี้อย่างไรบ้าง แต่พ่อแม่ของเขากลับบอกว่าลูกไม่ผิด และพยายามที่จะใช้อำนาจในการต่อรองกับโรงเรียน) ได้สื่อให้เห็นถึงความจริง(ที่โหดร้าย) สำหรับเด็กๆ ในทุกครอบครัว นั่นก็คือ หากครอบครัวไม่สนใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ยอมรับความจริง ความปรารถนาดีและการช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก ก็ดูจะเป็นไปได้ไม่มากนัก น่าเศร้า แต่ทว่าเราก็ต้องทำความเข้าใจในข้อจำกัดนี้ค่ะ
4) บางครั้งการช่วยเหลือเด็กที่ดีที่สุด ก็คือการไม่ช่วยเหลือ
“หากมีอะไรให้ช่วยก็บอกได้เสมอ” คือประโยคที่ครูประจำชั้นพูดกับอ๊อกกี้ทุกครั้งที่เห็นว่าอ๊อกกี้กำลังมีปัญหา แต่เราจะไม่ได้เห็นการเข้าไป “ก้าวก่าย” หรือให้การแนะนำใดๆ โดยไม่จำเป็นจากครูประจำชั้นคนนี้เลย นั่นเป็นเพราะวิธีการที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กๆ ก็คือการให้โอกาสพวกเขาในการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และได้มีพื้นที่ในการแสดงออกแบบเด็กๆ โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้สนับสนุนและให้การช่วยเหลือ “เมื่อเด็กเรียกร้อง” เพราะการช่วยเหลือที่มากเกินไป นอกจากจะไม่ทำให้เด็กรู้จักที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง ติดนิสัยพึ่งพา บางครั้งยังอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับเด็ก โดยเฉพาะในแง่ของการรับรู้คุณค่าในตัวเอง หรือ self-esteem เพราะเด็กจะมองว่าตนเองนั่นอ่อนแอ และดูไร้ความสามารถ และไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อความกล้าที่จะเผชิญปัญหาในอนาคตนั่นเองค่ะ
5) ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ปกติหรือไม่ ล้วนต้องการความรักและเอาใจใส่จากพ่อแม่ไม่ต่างกัน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่า “พ่อแม่รักลูกเท่ากันนั้นไม่มีจริง” ครูพิมบอกได้เลยค่ะว่า ประโยคที่ว่านี้เป็นเรื่องที่คุณเข้าใจถูกต้องแล้วหละค่ะ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเป็นธรรมชาติ เนื่องจากสภาพแวดล้อม เงื่อนไขในชีวิต รวมถึงบุคลิกลักษณะนิสัยของลูกแต่ละคน ล้วนมีผลต่อการแสดงออกและต่อความรู้สึกรักและผูกพันที่พ่อแม่มีต่อพวกเขา จริงอยู่ที่พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่การรักลูกเท่าๆ กันทุกคนนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนทำได้ คือการ “ไม่ละเลยที่จะให้ความสำคัญ” รวมทั้งการ “ชื่นชมและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกแต่ละคนเป็น”
ในเรื่องนี้ “เวีย” พี่สาวของอ๊อกกี้ เป็นตัวละครหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก “ถูกละเลย” ได้อย่างชัดเจน จริงอยู่ที่ทั้งพ่อและแม่ต่างก็รักเวีย แต่ด้วยความอ่อนแอของน้อง ทำให้ดูเหมือนว่า อ๊อกกี้ เป็นคนที่ต้องได้รับ “ความรักและความเอาใจใส่” จากพ่อแม่มากกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น พี่สาวผู้เกิดมาอย่างปกติ ก็ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ไม่แตกต่างไปจากเด็กชายใบหน้าพิการ ในทางตรงกันข้าม การรู้สึกไร้ตัวตนนี้เอง ที่อาจเป็นเสมือนหยดน้ำที่คอยกัดกร่อน ทำให้เด็กที่ดูเหมือนว่ามีชีวิตที่ปกติดี อาจกลับกลายเป็นเด็กที่มี “หัวใจที่พิการ” โดยที่พ่อแม่ไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว
ความเชื่อมโยงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ชี้ให้เห็นเหตุที่ยังคงทำให้ “เวีย” เลือกที่จะเดินเส้นทางที่ดี และแทบจะไม่มีอาการ “ไม่รักน้อง” นั่นเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่อบอุ่นในวัยเด็ก รวมถึงความปรารถนาที่จะมีน้องของเธอ รวมทั้งการที่พ่อแม่ให้เธอมีโอกาสในการช่วยดูแลน้อง ทำให้เธอรู้สึกรักและผูกพันกับอ๊อกกี้นั้นมากเกินกว่าที่จะนำความรู้สึกไม่ดีที่ได้จากการถูกละเลย อีกทั้งผู้เป็นแม่ก็ได้ “ตระหนัก” ถึงความละเลยนี้ ในเวลาที่ยังไม่สายเกินไป ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่ใช่ในบทภาพยนตร์ เรื่องราวของเวีย อาจไม่ได้จบลงอย่างสวยงามเช่นนี้ก็ได้ค่ะ
6) ไม่มีความฝันของใครไม่สำคัญ โดยเฉพาะความฝันของตัวคุณเอง
หลายๆ คนที่เมื่อมีลูกแล้ว ก็มักจะพับความฝันของตนเก็บเข้าลิ้นชักไป แล้วเปลี่ยนความตั้งใจเป็นการสานฝันให้กับลูกแทนใช่ไหมล่ะคะ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับนำเสนอในมุมที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ ด้วยเพราะอาจจะกลัวว่าคนอื่นจะมองไม่ดี นั่นคือการวางบทให้แม่ของอ๊อกกี้ กลับมาตั้งใจสานต่อความฝันของตัวเองนั่นคือการเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งเป็นแนวคิดที่ครูพิมอยากจะสนับสนุนว่าแต่ ทำเถอะค่ะ กับการหยิบเอาความฝันเก่าๆ ของเรามาปัดฝุ่น เพราะไม่มีความฝันของใครที่ไม่สำคัญ จริงอยู่ที่ความสำเร็จของลูกคือเรื่องสำคัญ แต่ก็อย่าลืมว่า การสร้างความสุขและความสำเร็จให้กับตัวเองนั้น ก็เป็นรางวัลที่คุณพึงได้ค่ะ นอกจากนี้ การที่คุณเรียนรู้ที่จะกลับมาดูแลความฝันของตัวเอง ก็เป็นสะท้อนให้เห็นว่า คุณไว้วางใจในตัวลูก และแน่นอนว่า มันหมายถึงการที่คุณไว้ใจตัวเองด้วยเช่นกัน ่่
เป็นยังไงบ้างคะ กับข้อคิดด้านครอบครัวและเด็กที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ อันที่จริงแล้ว Wonder ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก แต่ครูพิมขอยกมาเฉพาะประเด็นที่สามารถนำมาวิจารณ์ในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการได้และเป็นประเด็นที่อาจจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก หวังว่ามุมมองและประสบการณ์ของครูพิมที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านในการทำความเข้าใจเด็กๆ และตัวเองได้มากขึ้นนะคะ แล้วพบกันในบทความหน้าค่ะ