หลายๆ ครั้ง การเป็นพ่อแม่ ทำให้เราเผลอนึกไปว่า เรากำลังเป็นบุคคลที่ “มีอำนาจ” เหนือลูก โดยที่เรารู้ตัวหรืออาจจะไม่รู้ตัว ความคิดเช่นนี้ ทำให้หลายๆ ครั้ง เราปฏิบัติต่อลูกเสมือนคนที่ด้อยกว่า หรือเป็นคนที่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของเราเท่านั้น จนเมื่อเด็กเริ่มที่จะเรียนรู้ว่า เฮ้ย…นี่มันชีวิตของฉันนี่หว่า นี่ฉันไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ตลอดก็ได้นี่ ซึ่งเป็นความคิดที่เด็กเล็กๆ เองก็เริ่มที่จะเข้าใจ เมื่อเข้าสู่วัยที่เริ่มเดินเองได้ เริ่มใช้ร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว ในวัยนี้เอง ที่เด็กก็เริ่มเรียนรู้ที่จะ “ไม่เชื่อฟัง” และอยากที่จะท้าทายอำนาจของพ่อแม่
เมื่ออำนาจเริ่มสั่นคลอน และความคิดที่จะใช้การเจรจา ประนีประนอม หรือการตั้งกฎกติกาอย่างมีเหตุผล ไม่เคยถูกนึกถึงมาก่อน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองหลายๆ ท่านเลือกนำมาใช้เป็นอันดับแรกๆ เพื่อรักษาอำนาจที่เหนือกว่าลูก จึงหนีไม่พ้นการเลือกใช้วิธีดั้งเดิม ทั้งการลงโทษบ้าง ทำร้ายร่างกายบ้าง หรือแม้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติแต่ไม่ใช่สิ่งที่ปกติ อย่างเช่นการตะคอกใส่เด็ก
แต่หลายๆ คนอาจจะลืมไปค่ะว่า การตะโกน หรือ ตะคอกใส่เด็กนั้น ไม่ได้ทำให้สิ่งข้อความที่เราต้องการจะพูดหรือบอกเด็ก ถูกส่งอย่างตรงไปตรงมา ในทางตรงกันข้าม เด็กๆ ที่ถูกตะคอกใส่นั้น กำลังรับข้อความเพียงอย่างเดียวจากเรา คือข้อความที่ว่า “พ่อ/แม่ คงโกรธและเกลียดฉันมาก” และพลังร้อนๆ ที่เราส่งให้กับเด็กนั้น ย่อมไม่ทำให้เด็กปรับปรุงพฤติกรรม หรือเป็นเด็กที่เชื่อฟังเรามากขึ้นแต่อย่างใด หรือหากจะได้ผล ก็คงเป็นผลจากความช็อคและความกลัวในระยะสั้นๆ เท่านั้น
คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะลดพฤติกรรมนี้ของเราเองได้อย่างไร และถ้าไม่ตะคอกใส่ลูก เราควรจะทำแบบไหน ให้ลูกเลิกสร้างปัญหา (ทางอารมณ์) ให้เราเสียที ในบทความนี้ ครูพิมจึงมีขั้นตอนดีๆ ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น มาฝากกันค่ะ
1) ทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่า การตะคอก/ตะโกน ทำให้ลูกรู้สึกถึงการถูกกด ถูกลดอำนาจ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะเข้าใจก่อนที่จะรู้เทคนิคข้อถัดๆ ไป คือเรื่องที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราพยายามที่จะสร้างอำนาจหรือทำตัวให้เหนือกว่าลูก เมื่อนั้น ลูกจะรู้สึกถึงการถูกท้าทาย ถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่ลูกจะทำ จึงไม่ใช่การให้ความร่วมมือ แต่จะเป็นการพยายามที่จะต่อสู้กลับ
2) การตะโกน/ตะคอก คือการที่เราเองนั่นแหละ ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
นอกจากเราจะต้องทำความเข้าใจถึงการสร้างความสมดุลในอำนาจระหว่างคุณกับลูกแล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังควรเรียนรู้เพิ่มเติมอีกสักนิดหนึ่งค่ะว่า หากเราต้องการควบคุมลูก แต่ตัวเราเองกลับเป็นฝ่ายสูญเสียการควบคุมซะเอง เรื่องก็จะไม่สามารถจบลงอย่างสวยงามอย่างที่เราคิดได้ค่ะ
3) เมื่อตั้งสติได้ตาม 2 ข้อข้างบนแล้ว ให้เลือกใช้เทคนิคอื่นแทนในการควบคุมพฤติกรรมลูก
มาถึงจุดนี้ สติสตางค์ของเราน่าจะเริ่มอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ทีนี้ก็มาดูกันค่ะว่า ถ้าไม่ตะคอกหรือออกคำสั่งกับลูกด้วยเสียงดังๆ เราควรจะทำอย่างไรกันดี ครูพิมมีตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า มาให้ 3 ตัวอย่างค่ะ
– อย่างแรก : นั่งลงในระดับเดียวกันกับสายตาของลูก แล้วพูดสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำ หรือ คำสั่งที่เราต้องการจะบอกลูก อย่างชัดถ้อยชัดคำ จริงจัง โดยใช้น้ำเสียงปกติ
– เทคนิคที่สอง : มองหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ลูกทำพฤติกรรมกวนใจ แล้วแก้ที่ต้นเหตุนั้น เช่น ลูกมากวนเราเพราะหิว ลูกโวยวายเสียงดังเพราะของเล่นพัง เหล่านี้เป็นต้น
– เทคนิคสุดท้าย : เสนอเงื่อนไขให้กับลูก หากว่าการออกคำสั่งอย่างจริงจังก็แล้ว แก้ต้นเหตุก็แล้ว ยังคงไม่สามารถสร้างความสงบให้กับลูกได้ เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือ การเสนอตัวเลือก ประมาณ 2 – 3 ตัวเลือกให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กเบี่ยงเบนความสนใจจากการเรียกร้องอะไรบางอย่างก่อนหน้านั้น มาเป็นการประเมินตัวเลือกใหม่ที่เราเสนอให้ ซึ่งวิธีการนี้ ครูพิมแนะนำว่า ควรจะเป็นทางเลือกที่สร้างความพึงพอใจให้กับทั้งฝ่ายผู้ปกครองและเด็ก ไม่ใช่ตัวเลือกที่เป็นการตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไปค่ะ
หลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ผู้ปกครองหลายท่านอาจเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ ในขณะที่หลายท่านอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติค่ะ โดยเฉพาะกับสิ่งที่เราทำมานานแล้ว แต่เพราะอย่างนี้นี่เอง ครูพิมจึงอยากให้ทุกท่านพยายามให้มากที่สุด ในการเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ปกครองเชิงบวก เพื่อที่เด็กๆ ที่เราเลี้ยงดูอยู่ในวันนี้ จะได้ไม่ต้องเคยชินและต้องมาปรับพฤติกรรมของตนเองกันในภายหลัง ซึ่งเราต่างก็รู้ดีว่ามันไม่ง่าย
แต่ถึงมันจะไม่ง่าย แค่รู้ว่าทุกท่านตั้งใจและพยายาม ครูพิมก็ดีใจแทนเด็กๆ แล้วหละค่ะ