คุณพ่อคุณแม่เคยรู้สึกแบบนี้ไหมคะ?
- พูดอะไรลูกก็ไม่ฟัง
- ปัญหาเก่าๆ เดิมๆ ไม่เคยแก้ได้สักที สอนแล้วสอนอีก
- ยิ่งพูดกันก็เหมือนเรื่องจะยิ่งใหญ่โตบานปลาย จนเราถึงกับบอกตัวเองว่า “ลูกคนนี้นี่มันสอนยากสอนเย็นขึ้นทุกวัน”
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างความรู้สึกต่อไปนี้นะคะว่า คุณพ่อคุณแม่เองเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแบบนี้บ้างหรือเปล่า?
- “ทำไมเธอพูดกับเราเหมือนเราทำผิดมากมายเลยนะ มันก็เรื่องแค่นี้เอง…”
- “ทำไมเธอถามอะไรฉันทีไร ฉันไม่เคยอยากจะตอบเธอเลย ช่วยถามให้น่าตอบกว่านี้ได้ไหม”
- “เอาอีกละ พูดแบบนี้อีกแล้ว งั้นอยากจะคิดยังไงก็ตามใจเธอเถอะ”
แล้วคุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า เด็กๆ เองก็อาจจะเคยมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งนี่ก็คือสาเหตุที่ในหลายๆ ครั้ง เราไม่สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูกๆ ได้นั่นเองค่ะ
หากลองทบทวนดูจากตัวอย่างที่ครูพิมยกมาให้ข้างต้น เราอาจจะเห็นได้ว่า มีความขัดแย้งกัน ระหว่างผลลัพธ์ที่ผู้พูดต้องการกับความรู้สึกที่ผู้ฟังได้รับ ซึ่งตรงจุดนี้ สิ่งที่มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้การสื่อสารมันไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ก็คือวิธีการที่เราสื่อสารออกไปนั่นเองค่ะ
ในภาษาที่ใช้อธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ มีคำศัพท์หนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือคำว่า “The Connecting/Disconnecting Language” หรือเราอาจจะเรียกเป็นภาษาไทยในแบบของครูพิมได้ว่า ภาษาที่สร้าง/ทำลายความสัมพันธ์ ก็น่าจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิมมากนัก
ซึ่ง The Disconnecting Language หรือ ภาษาที่ทำลายความสัมพันธ์ จะเป็นสิ่งที่เราจะพูดถึงกันก่อนในตอนที่ 1 นี้ค่ะ
มีคำพูดมากมายที่ครูพิมสังเกตเห็นและเคยประสบมากับตัวเอง ซึ่งเป็นทั้งการสื่อสารกันระหว่างแม่ลูก – พ่อลูก หรือบางทีก็พ่อแม่ลูก ที่ดูเหมือนยิ่งพูดก็ยิ่งแย่ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็มีความตั้งใจจะที่หาทางออกของปัญหา แก้ไขตัวเอง และยุติการทะเลาะเบาะแว้ง แต่ก็ไม่เป็นผล หรือหลายครัั้งก็เหมือนจะจบปัญหาไปได้ชั่วคราว แต่ความรู้สึกในใจยังครุกรุ่นอยู่ไม่น้อย
ทีนี้เรามาลองดูกันเล่นๆ ค่ะว่า เมื่อลูกของคุณเกิดเผลอ(หรือตั้งใจ) ทำความผิดอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา คุณเคย(คิดว่า)แก้ปัญหา ด้วยการถามหรือพูดคำต่อไปนี้หรือไม่…
- “ไม่รู้เหรอว่ามันแพง ที่ซื้อมานี่เงินทั้งนั้นนะ”
- “ฟังที่แม่พูดนะ แค่นี้ทำไม่ได้เหรอ”
- “ทำใหม่สิ! ไม่ ไม่ใช่แบบนั้น.. โอ๊ย เละเทะไปกันใหญ่แล้ว”
- “ขอโทษเดี๋ยวนี้!”
- “เธอพูดกับชั้นแบบนี้ได้ยังไง!”
- “นี่แกคิดว่าแกกำลังทำอะไรอยู่ฮะ!”
ฯลฯ
อื้อหือ…แต่ละคำนี่บาดลึกถึงใจดีจริงๆ ใช่ไหมคะ อย่าว่าแต่บาดใจเด็กเลยค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ได้ยินนี่ยังจิี๊ดไปถึงหัวใจเลย
ซึ่งคำพูดที่ไม่นำไปสู่ทางออกของปัญหาส่วนใหญ่นี่หละค่ะ ที่เป็นต้นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กลดน้อยถอยลง จนอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้
ในตอนหน้า เราจะมาพูดกันต่อนะคะว่า ภาษาแบบ Disconnecting Language นั้น ส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กอย่างไร แล้วเราควรจะสื่อสารแบบใด ให้ปัญหาคลี่คลายและสร้างสายใยในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น
แล้วเจอกันตอนหน้าค่ะ 🙂
บทความที่เกี่ยวข้อง