ฺBooks & Movies

น้อง…พี่…ที่รัก : เมื่อพี่น้องรักกันแต่อยู่ด้วยกันดีๆไม่ได้

“ไปดูเรื่องนี้กันเถอะ พรุ่งนี้หนูหยุด” คำชักชวนของน้องสาวครูพิม ที่อยากจะดูภาพยนตร์เรื่อง “น้อง…พี่…ที่รัก” ที่ครูพิมเองก็มั่นใจว่า ที่ชวนนั้นไม่ได้เพราะอยากไปดูเรื่องพี่น้องหรอก แต่คงอยากจะไปดูที่รักมากกว่า (ฮ่า…) แต่เอาเถอะ ไปก็ไป…และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของบทความในหัวข้อเกี่ยวกับความความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ในมุมมองของนักจิตวิทยาพัฒนาการอย่างครูพิม

ชัช (แสดงโดย ซันนี่ ขวัญใจครูพิม) และ เจน (แสดงโดย ญาญ่า ขวัญใจครูพิมอีกเช่นกัน) สองตัวละครหลักของเรื่อง เป็นตัวแทนของพี่น้องในโลกแห่งความเป็นจริง ที่มีความแตกต่างกันในแง่ของความสามารถและการเป็นที่รักของคนรอบข้าง โดยชัช คือพี่ชาย

ที่ดูเหมือนจะมีแต่เรื่องแย่ๆ ทั้งการเรียน การงาน หรือแม้แต่ความรัก แตกต่างจาก เจน น้องสาว ที่ดูจะเก่งเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ไปเสียทุกอย่าง และนี่คือจุดเริ่มต้นความแห่งการสะสม “ความรู้สึกแย่” ในใจของกันและกันมาโดยตลอดตั้งแต่เล็กจนโต

จนเมื่อวันหนึ่ง ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้น สะสมจนเกิดเป็นจุด (เกือบจะ) แตกหัก ทำให้คนเป็นพี่น้องท้องเดียวกันเกิดความบาดหมางอย่างรุนแรง จนทำให้ เจน ถึงกับไล่พี่ชายตัวเองออกจากบ้าน ในขณะที่ชัช ก็เลือกที่จะไม่ไปงานแต่งงานของน้องสาวคนเดียวของเขา แต่เมื่อนี่คือภาพยนตร์ ท้ายที่สุดจึงมีเหตุให้ทั้งสองพี่น้องปรับความเข้าใจกันได้ด้วยดี เพราะในความบาดหมางนั้น ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “สายสัมพันธ์พี่น้อง” เป็นเหมือนเส้นด้ายที่มองไม่เห็น ผูกมัดกันและกันไว้อยู่

หากมองในมุมมองของภาพยนตร์ นี่คือเรื่องราวที่กินใจ ประทับใจ เรื่องหนึ่งเลยค่ะ แต่หากเราจะมองให้ลึกกว่านั้น และเห็นที่มาที่ไปของความบาดหมางระหว่างกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องราวที่ “เกิดขึ้นจริง” มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกเลย โดยเฉพาะการที่เราไม่รู้ว่า ตอนจบจะสวยงามเหมือนในภาพยนตร์หรือไม่ สายสัมพันธ์พี่น้อง จะแข็งแกร่งมากพอขนาดที่ทำให้ลืมความบาดหมางที่แสนจะหนักหนาทางใจนั้นไปได้จริงไหม นี่คือสิ่งที่เราจะมานั่งวิเคราะห์ไปด้วยกันต่อจากนี้

ครอบครัวของชัชและเจน เป็นครอบครัวที่ขาดพ่อ ชัชและเจนถูกเลี้ยงดูโดยแม่และป้า (ที่ก่อนหน้านั้นเป็นคุณลุง) มาตั้งแต่เล็กคนโต แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งที่ชัชอาจจะขาดไปก็คือ “ตัวอย่าง” ในการแสดงบทบาทที่เหมาะสมของการเป็นผู้ชาย ซึ่งควรจะได้จากผู้เป็นพ่อ โดยที่แม่และป้าเองก็อาจจะมองไม่เห็นในประเด็นนี้ แต่ก็ได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะเลี้ยงลูกชายให้เป็นพี่ที่ดี ด้วยการบอกว่า “ให้รักน้องให้มากๆ”

ชัช รู้สึกผิดหวังตั้งแต่แรกเริ่มที่มีน้องสาว ด้วยความที่เขาคาดหวังมาโดยตลอดว่า เบบี๋ในท้องแม่นั้น จะเป็นผู้ชาย ในจุดนี้อาจจะเป็นความตลกในภาพยนตร์ แต่สำหรับชีวิตจริง ความคาดหวังและความผิดหวังของเด็ก ไม่ใช่เรื่องตลก ซึ่งนี่คือสิ่งที่ครูพิมอยากจะย้ำกับคุณพ่อคุณแม่เสมอว่า หากจะมีน้อง ขอให้พี่ได้เข้ามามีส่วนรับรู้ในทุกระยะของการเปลี่ยนแปลง และให้เขาได้มีส่วนร่วมในการดูแลน้องตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ 

ความรู้สึกแย่ของชัช เพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อบรรดาแม่ๆ ต่างพากันเอาใจใส่ เจน น้องสาว มากกว่าตน จนทำให้ตนรู้สึกเป็น “หมาหัวเน่า” ยิ่งไปกว่านั้น เจน ก็ไม่ใช่เด็กผู้หญิงธรรมดาๆ แต่ทว่า มีความสามารถรอบตัว จนเป็นที่ชื่นชมของทุกคน ตั้งแต่คนในครอบครัว ไปจนถึงคนในโรงเรียน ซึ่งความรู้สึกของชัช คงจะไม่แย่มากนัก หากสิ่งที่เรียกว่า “การเปรียบเทียบ” ไม่เกิดขึ้น จนเลยเถิดไปถึงการล้อเลียน

เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นกับชัชซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้ชัชแสดงออกเสมือนคนที่เกลียดน้องสาว ทั้งที่ในใจลึกๆ นั้น ชัชรู้ดีว่ามันไม่ใช่ และประโยคหนึ่งในภาพยนตร์ที่สะท้อนความรู้สึกของชัชได้อย่างสมบูรณ์ นั่นก็คือประโยคที่ว่า “พี่ไม่ได้เกลียดเจน แต่เกลียดตัวเองตอนที่อยู่กับเจน”

ในขณะที่มุมมองของน้องสาวสุดเพอร์เฟ็กต์อย่าง เจน ด้วยความที่รู้ว่าพี่อ่อนกว่าในทุกเรื่อง สิ่งที่แสดงออกมา จึงเป็นเหมือนการข่ม การแสดงอำนาจ และการแสดงความเหนือกว่า ทั้งที่สิ่งที่เจนรู้สึกในใจมาโดยตลอด คือความเป็นห่วง และปรารถนาดีต่อพี่ เพราะรู้ดีว่า พี่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หากไม่มีตนเป็นคนคอยกำกับดูแ

สองคนนี้มีความรักและความปรารถนาดีต่อกันเป็นพื้นฐาน แต่เพราะเหตุใด จึงเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่คุกรุ่นในใจตลอดเวลา ครูพิมมองว่า สิ่งที่นำมาสู่ปัญหาที่ไม่น่าเกิดนี้ แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ ค่ะ นั่นก็คือ

1) การขาดความเข้าใจจากคนในครอบครัว : ตามที่ได้บอกแล้วว่า ชัช และ เจน โตมากับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งนี่ไม่ใช่ประเด็นที่ครูพิมมองว่าเป็นปัญหา แต่จุดที่อาจจะเป็นสาเหตุที่แท้จริง คือการที่ชัช พี่ชาย เป็นผู้ชายคนเดียวในบ้าน ชัช จึงขาดทั้งตัวอย่าง และยังได้รับความกดดันทางใจในการเป็นทั้งพี่ และยังต้องทำหน้าที่แทนพ่อ ทำให้ความรู้สึกที่ชัชแบกรับอยู่นั้น ใหญ่เกินตัว ซึ่งหากผู้เป็นแม่เข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกนี้ในใจของชัช เรื่องราวนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะไม่รุนแรงมากนัก

2) การเปรียบเทียบคือชนวนแห่งความร้าวฉาน : หากสังเกตการณ์ดำเนินเรื่อง จะเห็นจุดที่ภาพยนตร์พยายามจะย้ำซ้ำๆ นั่นคือ การที่ชัช ถูกเปรียบเทียบกับน้องอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบโดยแม่ ครูที่โรงเรียน เพื่อนๆ นักเรียน เรื่อยมาจนถึงพี่ๆ น้องๆ ในที่ทำงาน การเปรียบเทียบ เป็นการแสดงออกถึงการมองว่า “คนผู้ที่แพ้และชนะ” และเมื่อชัชถูกเปรียบเทียบแบบนี้บ่อยๆ เข้า ความรู้สึกของการเป็นผู้แพ้ ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น ความรู้สึกในใจของชัชจึงคิดว่า หากไม่มีเจนมาเป็นน้อง ชีวิตของเขาก็คงปกติเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้เป็นคนที่แพ้ไปซะทุกเรื่องแบบนี้ นี่คือประเด็นที่ครูพิมอยากจะย้ำเตือนให้ขึ้นใจ ไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้นนะคะ แต่หมายรวมไปถึงการเปรียบเทียบ “คน” ในแง่มุมอื่นๆ ด้วย ว่ามันส่งผลกระทบแค่ไหนต่อจิตใจของผู้ที่ถูกเปรียบเทียบค่ะ

3) การสื่อสารที่ดีคือวิธีจัดการปัญหา : อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า ความเป็นพี่น้อง เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำให้คนสองคนหรือมากกว่า รักและผูกพันกันได้อย่างลึกซึ้ง เป็นคำพูดที่คนที่มีพี่น้องหลายๆ คน คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันเป็นความรู้สึกดีๆ ที่อธิบายไม่ถูก ครูพิม ในฐานะที่เป็นทั้งพี่และน้อง ก็รับรู้ถึงความรู้สึกนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่ควรจะดีเหล่านี้ ถูกบิดเบือนหรือถูกลดทอนลงไป ส่วนใหญ่แล้วมักจะมามาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “การสื่อสารและการแสดงออก” ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในครอบครัวคนไทยหลายๆ ครอบครัว ความรักและปรารถนาดีที่ควรจะเกิดขึ้นและรับรู้ได้ จึงไม่เป็นไปตามที่คิด อย่างเช่นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ที่แสดงให้เห็นว่า ชัช รู้สึกเป็นห่วงน้อง ที่จะต้องแต่งงานกับคนที่เพิ่งรู้จักได้ไม่นาน แต่กลับไม่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ เจน รู้สึกว่าพี่ชายต้องการที่จะขัดขวางความสุขของตนเอง ในขณะที่ เจน ก็เป็นห่วงพี่ในเรื่องการทำงาน จึงเลือกที่จะฝากงานให้กับพี่ โดยไม่ให้พี่ได้รับรู้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ทั้งสองคนต่างมีความปรารถนาดีต่อกัน แต่แสดงออกโดย “คาดหวังเอาเอง” ว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจในความหวังดีนั้น ซึ่งนี่ไม่ใช่วิธีการคิดที่ถูกต้องนัก ในแง่ของการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องเท่านั้น แต่มักจะเกิดขึ้นในทุกๆ รูปแบบความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คู่รัก” (ก็อย่างที่เพลงที่ญาญ่าร้องน่ะคะ ก็ความรักไม่ใช่ความลับ ถ้าอยากจะรักทำไมต้องปิด!)

จากประเด็นที่ครูพิมยกมาทั้ง 3 ประเด็นนี้ น่าจะทำให้ทั้งผู้ชมภาพยนตร์และผู้ที่ติดตามเพจครูพิมอยู่นี้ ได้เข้าใจถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องราวและพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นของแต่ละตัวละครมากขึ้น และโดยเฉพาะความตั้งใจของครูพิม ที่อยากจะให้พ่อแม่ และผู้ที่มีพี่น้องทั้งหลาย เข้าใจถึงการสร้างและรักษาสายสัมพันธ์ของน้องพี่มีมาโดยธรรมชาติ ให้แข็งแกร่งและเหนียวแน่นยิ่งขึ้น เพราะความรักและความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้น เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อชีวิตและจิตใจของมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ( ความจริงนี่คือสิ่งที่อาจสำคัญมากกว่าเสียด้วยซ้ำไปค่ะ) หวังว่าสิ่งที่ครูพิมถ่ายทอดมานี้ จะเป็นประโยชน์และเปิดมุมมองให้กับคุณผู้อ่านบ้างไม่มากก็ (ไม่)น้อย นะคะ

ด้วยรักและอยากให้น้องพี่ทุกคนได้เป็นที่รัก

ครูพิม

 

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *