นี่เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตจากผู้ปกครองที่มักจะถามครูพิมค่ะ โดยครูพิมให้คำตอบผู้ปกครองทั้งหลายไปว่า
“เด็กควรไปโรงเรียนเมื่อไหร่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะทั้งหมดอยู่ที่ความพร้อมของเด็กค่ะ”
นักจิตวิทยาเด็กและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการรวมไปถึงตัวครูพิมเอง จะให้ความสำคัญกับเรื่องของความพร้อมของเด็กเป็นหลักค่ะ เพราะแม้ว่าเด็กจะมีช่วงอายุที่ (ดูเหมือน) จะพร้อมแล้วสำหรับการไปโรงเรียน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 ขวบ แต่อายุ “มิได้บ่งบอกถึงความพร้อม” สำหรับการไปโรงเรียนเสมอไปค่ะ
เพราะการไปโรงเรียน เด็กจะต้องมีความพร้อมในทุกด้านที่จำเป็นต่อการอยู่รอดอย่างมีความสุขในโรงเรียน ซึ่งความพร้อมเหล่านั้นก็ได้แก่
- พัฒนาการทางด้านร่างกาย (Physical Development)
- พัฒนาการทางด้านอารมณ์ (Emotional Development)
- พัฒนาการทางด้านสังคม (Social Development)
- พัฒนาการทางด้านสติปัญญา (Intellectual Development)
เพื่อที่จะสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสมมีความพร้อมในการเข้ารับการศึกษาที่มีโครงสร้างและเป็นระบบ และมีความสามารถในการเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนได้
ซึ่งหากว่าลูกๆ ของคุณยังขาดความพร้อมในด้านใดด้านหนึ่งไป กิจกรรมในโรงเรียนคงไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับเขาอย่างแน่นอน และเมื่อการไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องสนุก เด็กๆ ก็อาจมีความรู้สึกทางลบกับการไปโรงเรียน รวมไปถึงการเรียนได้ค่ะ
พอลูกไม่ชอบไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิด แรกๆ อาจจะปลอบใจ หลังๆ ไปอาจเริ่มมีการบังคับ พอเริ่มมีการบังคับ ก็เริ่มมีการต่อต้าน พอมีการต่อต้าน ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองก็อาจยิ่งแย่ลง วงจรที่ไม่สวยงามเช่นนี้ อาจเกิดซ้ำไปซ้ำมา จนวันหนึ่งที่เด็กโตพอที่พฤติกรรมต่อต้านนี้อาจหายไปเอง (เริ่มอยากมีเพื่อน เริ่มติดคุณครู หรือไม่ก็คิดว่าอย่างไรก็ต้องไปอยู่ดี) เราก็อาจจะคิดไปว่าทุกอย่างโอเคแล้ว
แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าภายในจิตใจดวงเล็กๆ ของเด็กๆ นั้น รู้สึกโอเคแล้วจริงๆ
และจะดีกว่าไหมคะ หากการไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่น่าสนุกและมีความสุขตั้งแต่ต้น
คราวนี้เรามาดูกันต่อนะคะว่า แล้วอะไรบ้าง ที่เราควรเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเล็กๆ ของเราตั้งแต่วันนี้
ตรวจสอบตาม Checklist ทั้ง 5 นี้ได้เลยค่ะ
-
ความสามารถในการดูแลตนเองเบื้องต้น
– การเข้าห้องน้ำ บอกได้ว่ามีความต้องการจะขับถ่าย
– ดูแลความสะอาดของตนเองได้ เช่น รู้ว่าหากมือเปื้อนหลังการเล่น หรือทำกิจกรรมศิลปะ ต้องไปล้างมือ
– ทานข้าวได้เอง
– นอนหลับได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องกล่อม ไม่ติดที่) -
ความสามารถที่จะอยู่ห่างจากผู้ปกครองได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง*
ข้อนี้สำคัญมากค่ะ เพราะผู้ปกครองหลายคนคิดว่า การหักดิบด้วยการพาไปปล่อย (ทิ้ง) ที่โรงเรียน เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะฝึกลูกให้ห่างจากผู้ปกครอง และคิดว่าเดี๋ยววันหนึ่งเด็กก็หยุดร้องไห้ไปเอง แต่จากประสบการณ์ของครูพิมที่ได้พบเห็นเด็กๆ ในกลุ่มนี้มามากมาย ครูพิมพูดได้เลยค่ะว่า เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่ติดผู้ปกครอง(มากกว่าเดิม) กลับมาในภายหลัง หรือบางครั้งก็แทบจะในทันทีหลังจากไปโรงเรียน เพราะเขายังไม่มีความไว้วางใจกับการแยกจากนั่นเองค่ะ
ซึ่งวิธีการที่ครูพิมแนะนำก็คือ การฝึกให้เด็กมีระยะห่างจากผู้ปกครองบ้างก่อนที่จะเข้าโรงเรียน โดยเริ่มจากช่วงเวลาสั้นๆ แล้วค่อยเพิ่มระยะเวลาค่ะ
ทั้งนี้ การฝึกในส่วนนี้ จะไม่ใช่การปล่อยเด็กทิ้งไว้คนเดียวนะคะ แต่ควรเป็นการให้เด็กได้ลองอยู่กับบุคคลใกล้ชิดคนอื่นๆ เช่น คุณตาคุณยาย คุณพ่อ (ในกรณีที่เด็กติดแม่มาก) ญาติคนอื่นๆ ที่เด็กมีความคุ้นเคยพอสมควร หรือจะเป็นพี่เลี้ยงก็ได้ค่ะ
-
ความสามารถที่จะทำผลงานเล็กๆ ได้ด้วยตนเอง
ตัวอย่างของการทำผลงานได้ด้วยตนเอง ก็อาจจะเป็นการลงสี (หรือละเลงสี) การต่อบล็อค โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครองคอยช่วย
ซึ่งในข้อนี้อาจจะไม่ได้จำเป็นที่สุด แต่ก็มีประโยชน์มากสำหรับเด็ก เพราะเมื่อเข้าชั้นเรียนแล้ว เด็กที่สามารถที่จะทำผลงานต่างๆ ได้ด้วยตนเอง จะมีความโดดเด่น และมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองสูงกว่าเด็กที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองค่ะ
สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการสนับสนุนเด็กๆ ในเรื่องนี้ ก็อาจจะให้เวลาเขาสักวันละ ครึ่ง – 1ชม. ในการเล่นอิสระอยู่ข้างๆ คุณ หรือในขณะที่คุณกำลังทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ล้างจาน ซักผ้า ก็ได้ค่ะ
-
ความสามารถในการเข้ากลุ่ม หรือเล่นกับผู้อื่น
กิจกรรมในโรงเรียนโดยส่วนใหญ่ เป็นการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อนๆ ในชั้น แต่ก็ยังมีเวลาบางช่วง ที่เด็กๆ สามารถเล่นได้เองอย่างอิสระด้วย ซึ่งในส่วนนี้ เด็กๆ จะต้องใช้ความสามารถของตนเองในการเข้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำตนเอง การทักทายผู้อื่น การชวนเล่น ขอเล่นด้วย เหล่านี้เป็นต้น
ซึ่งความสามารถในส่วนนี้ เราสามารถช่วยเด็กๆ ได้ด้วยการพาเขาออกไปเปิดหูเปิดตาบ่อยๆ เจอเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันหรือวัยใกล้เคียง อาจจะเป็นญาติๆ หรือเพื่อนบ้านก็ได้ค่ะ หรือหากว่าเป็นครอบครัวเดี่ยว ก็อาจจะลองพาลูกๆ ไปร่วมกิจกรรมประเภท Playgroup ตามสถาบันต่างๆ ก็ได้นะคะ
-
ความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามตารางเวลา
โรงเรียนโดยทั่วไป จะทำกิจกรรมในชั้นเรียนตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ดังนั้นเด็กๆ ควรจะมีความพร้อมเบื้องต้นในส่วนนี้ด้วยนะคะ ซึ่งก็เริ่มได้จากการจัดตารางเวลาที่บ้านนั่นเองค่ะ โดยเราอาจเริ่มที่ส่วนที่ง่ายที่สุด ได้แก่ตารางเวลารับประทานอาหารก็ได้นะคะ จากนั้นจึงเพิ่มเป็น เวลาสำหรับอาหารว่าง เวลาสำหรับการตื่น เวลาสำหรับการนอนกลางวัน เวลาสำหรับการเล่นอิสระ เหล่านี้เป็นต้นค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะ กับ Cheklist ทั้ง 5 ข้อที่ครูพิมนำมาฝาก หากว่าลองเช็คดูแล้ว ลูกของเรามีครบทั้ง 5 ข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่คงยิ้มได้หายห่วงเลยใช่ไหมคะ แต่สำหรับเจ้าตัวเล็กบ้านไหนที่ยังมีความพร้อมไม่ครบทั้ง 5 ด้าน ครูพิมแนะนำให้รอจนเด็กมีความพร้อมก่อนจะดีที่สุดค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถที่จะฝึกตามวิธีที่ครูพิมแนะนำไว้เบื้องต้นก็ได้นะคะ หรือหากใครมีวิธีการที่น่าสนใจหรือลองแล้วได้ผล ก็นำมาเล่าสู่กันฟังได้เลยนะคะ
รัก
ครูพิม
#PimAndChildren