Talk to Parents

ไขข้อข้องใจ เพราะเหตุใดฝึกวินัยลูกเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ผล

discipline-your-kids

“เลี้ยงลูกยังไงทำไมถึงได้ดื้อแบบนี้” “ทำไมนักเรียนห้องเธอถึงได้ซนกันนักนะ”

ประโยคเหล่านี้อาจทิ่มแทงใจ ใครหลายๆ คน ที่มั่นใจว่าเราได้ทำทุกวิถีทางแล้วที่จะกำราบปราบเจ้าตัวเล็กให้อยู่หมัด แต่ไม่รู้ทำไม๊ ทำไมนะ ยิ่งเราพยายามฝึกเด็กๆ ให้มีวินัยเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูเหมือนจะไม่ได้ผล หนำซ้ำพฤติกรรมที่เราเคยสอนเคยเตือนไปแล้ว ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ซ้ำๆ ไม่หายไปสักที วันนี้ครูพิมมีคำตอบที่น่าสนใจพร้อมวิธีแก้ไขข้อผิดพลาดที่เราอาจยังไม่เคยรู้มาฝากกันค่ะ

3 Common Discipline Mistakes

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ข้องใจว่า ทำไมนะทำไม ทำอย่างไรก็ปราบกบฏตัวน้อยไม่ได้สักที
ลองเช็คกันดูนะคะว่า คุณได้ (เผลอ) ฝึกวินัยลูกด้วย 1 ใน 3 วิธีนี้หรือเปล่า?

1) คุณฝึกวินัยลูกหรืออบรมเขา ตอนที่คุณกำลังโกรธหรือเปล่า?

ในเวลาที่เรากำลังโกรธจัด หลังจากที่เราเห็นว่าลูกหรือเด็กๆ ได้ทำอะไรบางอย่างผิดไปหรือไม่ตรงใจเรา เรามักจะทำการสั่งสอนพวกเขาด้วยวิธีต่างๆ ในทันทีใช่ไหมล่ะคะ และแน่นอนว่า ในการสั่งสอนของเรานั้น มันมักจะเป็น “การบอกในสิ่งที่เด็กควรแก้ไข” ที่มาพร้อมๆ กับ เสียงที่ดัง ท่าทีที่โกรธเกรี้ยว คำพูดที่รุนแรงและอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กทำมากนัก และบางครั้งอาจเกิดปัญหาที่บานปลายขึ้นเมื่อคุณพบว่า ยิ่งสอนลูก ลูกก็ยิ่งไม่ฟังบ้าง เถียงบ้าง ร้องไห้งอแงบ้าง (ก็แหงล่ะค่ะ โดนอารมณ์เราไปเต็มๆ ซะขนาดนั้น) และแน่นอนว่า สิ่งที่เด็กรับรู้จากสิ่งที่เราเรียกว่า “การอบรมสั่งสอน” นั้น ไม่ใช่เนื้อหาหรือข้อแนะนำของเราแต่อย่างใด หากแต่จะเป็นพฤติกรรมของเราที่เด็กจะเรียนรู้และจดจำไปใช้อีกในอนาคต เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมนะ ฉันสอนลูกเท่าไหร่ ลูกก็ไม่เคยจำในสิ่งที่ฉันสอนสักที แถมยังชอบทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ที่เราอาจคุ้นๆ ว่าเหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน…อ่อ ที่เราเคยทำนี่เอง (ไม่ดีเลยใช่ไหมล่ะคะ)

ลักษณะของการอบรมสั่งสอนแบบนี้ เคยมีคนเปรียบเปรยไว้ว่า เหมือนกับการเมาแล้วขับ แล้วพาลไปโทษว่า รถคันนี้นี่ช่างไม่ได้เรื่องเสียจริง ทั้งที่จริงเป็นเพราะคุณไม่สามารถคุมสติและทำในสิ่งที่ต้องการจะทำจริงๆ ได้ มันจึงออกมาไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเองค่ะ

แก้ไขอย่างไรดี : โชคดีที่ปัญหานี้เราเห็นถึงต้นตอของมันอย่างชัดเจน นั่นก็คือเรื่อง “อารมณ์” ของเราในขณะที่กำลังสอนลูก ดังนั้นทางแก้ที่ง่ายที่สุดก็คือ ฝึกควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้นิ่ง ก่อนที่จะสื่อสารหรือสั่งสอนลูก เพราะจะทำให้สิ่งที่เราต้องการจะบอกจะสอนนั้น มีความชัดเจนมากที่สุด และที่สำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เด็กๆ สับสนในสิ่งที่เราพูดกับสิ่งที่เราทำ เพราะมันมีความสอดคล้องกันนั่นเองค่ะ

2) คุณคิดว่าการฝึกวินัยต้องใช้แต่การลงโทษหรือเปล่า?

มีคุณพ่อคุณแม่และคุณครูจำนวนไม่น้อยเลยค่ะ ที่ยังสับสนระหว่างการสร้างวินัยกับการทำโทษ และหลายคนคงจะแอบเถียงเบาๆ ในใจว่า  ถ้าไม่ทำโทษ ไม่สั่งสอน แล้วเด็กจะมีวินัยได้อย่างไร

Skinner นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงและเป็นคนแรกๆ พูดถึงการ Punishment หรือลงโทษ ว่าเป็นการเชื่อมโยงระหว่างการทำพฤติกรรมกับการได้รับผลทางลบ หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ ถ้าเราทำพฤติกรรมบางอย่างแล้วได้ในสิ่งที่เราไม่ต้องการหรือเป็นภัยกับเรา เราก็จะหลีกเลี่ยงการทำพฤติกรรมนั้น เหมือนกับที่เด็กอาจจะไม่ทำพฤติกรรมที่แม่ไม่ชอบ เพราะกลัวจะถูกแม่ตี แต่ Skinner ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การที่เราไม่ทำอะไรบางอย่างเพราะกลัวถูกลงโทษ ไม่ได้แปลว่า เราจะไม่ทำพฤติกรรมนั้นอีกเลย ถ้าเมื่อไหร่ไม่ถูกลงโทษ ก็มีแนวโน้มที่พฤติกรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะมันเป็นแค่การ “กดไว้” เท่านั้น และนี่คงพอจะเป็นคำตอบให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า ทำไมการลงโทษของเรา ที่นับวันมีแต่จะหนักขึ้นๆ กลับไม่ได้ทำให้เด็ก “จำ” เลย (ทำนองว่าสอนเท่าไหร่ก็ไม่จำ) ก็เป็นไปได้ว่า เราอาจไม่ได้ทำให้เขาจำ (เข้าใจ) เพียงแต่เราทำให้เขา “เลี่ยง” เท่านั้นเองอย่างไรล่ะคะ

แก้ไขอย่างไรดี : หลายคนอาจโฟกัสที่การลงโทษเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่ดี และอาจละเลยที่จะให้การชื่นชมหรือให้รางวัล (ซึ่งอาจเป็นแค่รอยยิ้มของพ่อแม่ก็ได้) ในเวลาที่เด็กทำพฤติกรรมที่ดี ซึ่งครูพิมคิดว่า การเชื่อมโยงในแบบหลัง เป็นสิ่งที่ดีและได้ผลมากกว่า เพราะจะเป็นการทำให้ทั้งตัวเราและตัวเด็ก โฟกัสในสิ่งที่ดี และเกิดแนวโน้มว่าจะทำพฤติกรรมที่ดีนั้นเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าหากพฤติกรรมที่ดีมีมากขึ้น พฤติกรรมที่ไม่ดีก็ย่อมเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะธรรมชาติของมนุษย์และเด็กๆ ย่อมอยากจะได้รับสิ่งที่ดี มากกว่า ต้องคอยหลีกหนีการถูกลงโทษอยู่แล้วใช่ไหมล่ะคะ

และครูพิมเชื่อว่าเด็กหลายๆ คนไม่ได้ตั้งใจจะทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เพียงแต่เขาไม่รู้ว่า แล้วเป็นเด็กที่ดีจะต้องทำอย่างไร เพราะสิ่งที่เขาได้รับก็เพียงมีแต่การบอกถึง “สิ่งที่ไม่ดี” ในตัวเขา แต่หากเราลองเปลี่ยนแนวคิดใหม่ในการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับเด็ก ไม่แน่ว่าผลลัพธ์อาจจะดีกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ค่ะ

3) คุณใช้เทคนิคการสร้างวินัยที่ไม่ตรงกับนิสัยของลูกหรือเปล่า?

เด็กๆ ก็เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ แต่ละคนต่างมีพื้นฐานนิสัย พื้นฐานอารมณ์ และบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน วิธีการที่ได้ผลกับเด็กคนหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้ผลกับลูกของคุณก็ได้ แต่กระนั้นก็ยังมีคนอีกมากมายที่หยิบเอาเทคนิคต่างๆ มาใช้แบบลองผิดลองถูกหรือตามกระแส ( ซึ่งมีหลายกระแสเสียด้วยสิ) แต่แทนที่จะได้ผล กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แถมบางครั้งเทคนิคบางอย่างอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่แย่ไปกว่าเดิมอีกก็เป็นได้ ที่หนักกว่าคือ ผู้ปกครองบางคนเลือกที่จะใช้เทคนิคที่คิดว่าได้ผลนั้นซ้ำๆ แทนที่จะลองเปลี่ยนวิธีใหม่ หรือเอาใจใส่ต่อพฤติกรรมของลูกให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้จับแนวทางได้ง่ายยิ่งขึ้น

แก้ไขอย่างไรดี : ทำความเข้าใจกับนิสัยใจคอของลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หมั่นค้นหาวิธีการสร้างวินัยที่หลากหลาย อาจจะนำมาลองใช้บ้างเพื่อทดสอบว่าได้ผลหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายค่ะ แต่พยายามอย่ายึดมั่นถือมั่นกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้สังเกตผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับลูก โดยเฉพาะผลทางจิตใจ เพราะเทคนิคหลายอย่างที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ตหรือตามที่บอกต่อๆ กันมา ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ “ดีที่สุด” สำหรับลูกของเราก็เป็นได้ค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเหตุผล 3 ข้อที่มักทำให้การฝึกวินัยไม่ได้ผลที่ครูพิมนำมาฝากกันในวันนี้ มีข้อไหนที่ตรงกับคุณพ่อคุณแม่บ้างคะ (ถ้าไม่มีเลยก็เยี่ยมมากๆ ค่ะ) แต่สำหรับผู้ที่อาจจะเผลอพลั้งไปบ้าง หรือเกิดความเข้าใจผิด ครูพิมก็หวังว่าตัวอย่างที่ยกมาในวันนี้ จะช่วยให้เราพอมองเห็นแนวทางในการแก้ไขวิธีการสร้างวินัยให้กับเด็กๆ ในทางที่น่าจะได้ผลมากขึ้นกันแล้วนะคะ และไม่ต้องเสียใจไปหากเราเคยทำผิดพลาด เพราะการเป็นพ่อแม่มืออาชีพ ก็ต้องผ่านการฝึกฝนมาไม่ต่างที่เราจะฝึกวินัยเด็กๆ นั่นหละค่ะ

ในตอนหน้า เราจะมาคุยกันต่อในเรื่องของการสร้างวินัยด้วยการทางบวกกันดูบ้างนะคะ สำหรับครูพิมเอง ก็จะพยายามหาเทคนิควิธีการที่หลากหลายและได้รับการยอมรับในระดับสากล มาฝากกันให้มากขึ้น แล้วรอติดตามกันได้ค่ะ

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *