Talk to Parents

พูดกับลูกแบบใดทำลายความสัมพันธ์ (ตอนที่3)

คุณพ่อคุณแม่ยังพอจำเหตุการณ์ตัวอย่างกันได้ใช่ไหมคะ ในตอนที่แล้ว ในเรื่องของ Disconnecting Language หรือการสื่อสารที่ทำลายความสัมพันธ์นั้น เรายกตัวอย่างว่า เมื่อเห็นลูกกำลังตีเพื่อน เรามักจะเข้าไปแก้ไขสถานการณ์และพูดคุยกับลูกอย่างไร แล้วคำถามพูดที่เราใช้กันอยู่บ่อยๆ นั้น ส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกของลูกบ้าง

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือ “แล้วถ้าไม่อยากจะใช้คำพูดแบบนั้นกับลูก เราควรจะใช้คำพูดอย่างไรดี?”

ขอบคุณภาพจาก huffingtonpost.com
ขอบคุณภาพจาก huffingtonpost.com

วันนี้ครูพิมมีแนวทางดีๆ ในการเลือกใช้คำพูดที่ดีและได้ผลมากกว่ามาฝากค่ะ ซึ่งหลายๆ ประโยค อาจจะขัดแย้งกับธรรมชาติของเรา และต้องใช้การบังคับสติสตังของตนเองในการที่จะพูดประโยคเหล่านี้อยู่พอสมควร แต่คุณพ่อคุณแม่ที่น่ารักทำได้อยู่แล้วค่ะ มาเรียนรู้และสู้ไปด้วยกันเถอะนะคะ!

———————————————————-

4 ประโยคพลิกวิกฤติเป็นโอกาส! เมื่อลูกรักกำลังตีเพื่อน

1. “ตีเพื่อนทำไมฮะ ลูกมีปัญหาอะไร”  เปลี่ยนเป็น >>> น้อง…นั่นลูกกำลังตีเพื่อนอยู่นะครับ/นะคะ

วิธีการพูดแบบนี้ เป็นการเรียกว่า การพูดแบบสังเกตการณ์ (Observation) ค่ะ ซึ่งเป็นการทำให้รู้เด็กทราบว่า เรามองเห็นสิ่งที่เขาทำอยู่ว่าเป็นแบบนี้ โดยไม่มีการตัดสินหรือระบุปัญหาลงไปโดยยังไม่ทราบที่มาที่ไป และเป็นการทำให้เขารู้ตัวว่า กำลังทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกต้องอยู่ ซึ่งแค่การพูดเพียงสั้นๆ แบบนี้ เด็กบางคนก็สามารถที่จะหยุดพฤติกรรมการตีได้ทันที เพราะเขาเองก็ไม่ต้องการทำพฤติกรรมเช่นนั้น เพียงแต่อาจเกิดจากความโมโห หรือไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไรดี

2. “หยุดตีเพื่อนเดี๋ยวนี้นะ แม่บอกว่าให้หยุด ไม่น่ารักเลยนะ”  

เปลี่ยนเป็น >>> แม่คิดว่าปกติลูกไม่เป็นแบบนี้นะคะ ไหนลองบอกแม่สิว่าเกิดอะไรขึ้น

คำถามนี้เป็นการแสดงการรับรู้ความต้องการ และการแสดงความช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อเด็กๆ เห็นว่าเราเปิดโอกาสให้เขาบอก เขาก็จะพูดถึงสาเหตุที่แท้จริงออกมา โดยไม่จำเป็นต้องโกหกเพื่อให้ตัวเองเป็น “ฝ่ายถูก” หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ

3.”แม่ทำแบบนี้บ้างดีมั้ย จะชอบมั้ย ฮะ!”

เปลี่ยนเป็น >>> ลูกตีเพื่อนเพราะลูกอยาก……./คิดว่า…….. ใช่ไหมครับ/คะ

เมื่อเราได้ฟังคำตอบจากลูกแล้ว เราควรสะท้อนความรู้สึกของเขาด้วยการทวนสิ่งที่เขาเพิ่งพูดออกมา ก่อนที่เราจะทำการบอกว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดนะคะ และหากสิ่งที่เขาเข้าใจ ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือไม่ถูกต้อง หรือมีวิธีการอื่นๆ ที่ดีกว่า เราจึงสอนเขาให้เข้าใจด้วยประโยคถัดมาค่ะ

4. “ถ้ามีครั้งต่อไปนะ แม่จะ….(Time out/ตี/งดของเล่น/ไม่ให้ดูการ์ตูน/ฯลฯ)!”

เปลี่ยนเป็น >>> เวลาหนูตีเพื่อน เพื่อนเขาเจ็บนะลูก ครั้งหน้าถ้าหนูอยากจะ….. หนูลองพูดแบบนี้/ทำแบบนี้สิครับ (พูดว่าขอเล่นด้วย/ จับเพื่อนเบาๆ ก่อนถาม / เรียกชื่อเพื่อน ฯลฯ ) แบบนี้เพื่อนก็จะรู้แล้วครับ/ค่ะ ว่าหนูต้องการอะไร

การบอกผลของการกระทำพร้อมเสนอทางเลือกที่ดีกว่าให้แก่เด็กๆ เป็นการสื่อสารที่เรียกการให้ผลสะท้อนกลับ (feedback) ที่มีประสิทธิภาพมากค่ะ เพราะนอกจากจะไม่เสียเวลาเปล่า เสียแรงเหนื่อย และอาจจะเสียน้ำตาแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอีกด้วยนะคะ

———————————————————-

เรื่องของการสื่อสารนั้น เป็นหัวข้อที่นำมาเล่าสู่กันฟังได้อีกมากมายหลายหัวข้อเลยค่ะ ครูพิมเองก็สนใจและให้ความสำคัญกับวิธีการสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่และเด็กมากทีเดียว และเชื่อมั่นว่า การสื่อสารที่ดี เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพ

แล้วพบกันในหัวข้อหน้าค่ะ

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *