ในตอนที่แล้ว เราได้พูดคุยเรื่องของ “ความหมาย” และ “รูปแบบการสื่อสาร”
แบบ Disconnection Language กับลูก กันไปแล้ว
วันนี้ครูพิมจะมาเล่าให้ฟังต่อค่ะว่า คำพูดหรือวิธีการสื่อสารบางอย่างที่เราพูดออกไปหลังจากที่ลูกทำความผิดใดๆ นั้น
สร้างความรู้สึกอย่างไรให้กับลูก (หรือแม้แต่ผู้ฟังวัยอื่นๆ )
ก่อนอื่นเราลองมาจำลองสถานการณ์สนุกๆ (?) กันดูดีไหมคะ
สมมตินะคะว่า ลูกของคุณเกิดเผลอ (หรืออาจจะตั้งใจ) ตีเพื่อน แล้วคุณบังเอิญ(หรืออาจจะตั้งใจเหมือนกัน) ไปเห็นพอดี
ระบบการสั่งสอนแบบผู้ปกครองนิยมเริ่มทำงานทันทีด้วยการเริ่มต้นที่คำถามที่ว่า
“ตีเพื่อนทำไมฮะ ลูกมีปัญหาอะไร”
แล้วอาจจะตามด้วย
“หยุดตีเพื่อนเดี๋ยวนี้นะ แม่บอกว่าให้หยุด ทำแบบนี้มันไม่น่ารักเลยนะ”
ยังไม่จบแค่นั้นแน่นอนค่ะ เพราะลูกของคุณอาจจะยังไม่หยุด คุณจึงพูดต่อว่า
“แม่ทำแบบนี้บ้างดีมั้ย จะชอบมั้ย ฮะ”
และเมื่อสถานการณ์ดูคลี่คลายแล้ว เรายังอาจมีทิ้งท้ายนิดๆ หน่อยๆ อีกว่า
“ถ้ามีครั้งต่อไปนะ แม่จะ….(Time out/ตี/งดของเล่น/ไม่ให้ดูการ์ตูน/ฯลฯ)!”
คำพูดเหล่านี้ดูเป็นสูตรสำเร็จเจ็ดชั่วคนเลยใช่ไหมล่ะคะ เพราะครูพิมก็จินตนาการเป็นภาพจริงได้ไม่ยากเลย
และแม้ว่าบางประโยคอาจจะฟังดูเผินๆ เหมือนจะดี หรือบางครั้งเราก็พูดกับลูกแบบสุภาพๆ นิ่มนวลๆ นี่หละ ไม่ได้ตะโกน ตะคอก หรือตั้งใจจะดุเลย แต่ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่น้ำเสียงหรือท่าทางของเราค่ะ แต่มันอยู่ที่ “รูปแบบของภาษาและวิธีการสื่อสาร” ต่างหาก ซึ่งครูพิมจะขออธิบายให้เข้าใจมากขึ้น ด้วยการแปลผลของคำพูดเรา แล้วตีความในมุมที่เด็กรู้สึกนะคะ
——————————————————————-
1) “ตีเพื่อนทำไมฮะ ลูกมีปัญหาอะไร”
ประโยคนี้มีรูปแบบการสื่อสารแบบ “ท้าทาย” แฝงอยู่ ในทำนองที่ว่า “หาเหตุผลมาตอบให้ได้เชียวนะ”
ซึ่งเมื่อเด็กรับรู้แบบนี้ สิ่งที่เขาต้องตอบออกมาก็มักจะอยู่ในทำทองที่ว่า เพื่อนเริ่มก่อน น้องทำแบบนี้กับผม ก็หนูพูดแล้วเพื่อนไม่ฟัง เค้ามาแย่งของเล่นหนูก่อน อย่างนี้เป็นต้น เพื่อให้เขารอดพ้นจากคำว่า “เด็กไม่มีเหตุผล” ให้ได้นั่นเองค่ะ
และเมื่อคนหนึ่งท้า – คนหนึ่งหาคำตอบปกป้องตัวเอง นอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว การสานสัมพันธ์ก็อาจจะหยุดชะงักลงหรือถอยหลังลงก็ได้ค่ะ
2) “หยุดตีเพื่อนเดี๋ยวนี้นะ แม่บอกว่าให้หยุด ไม่น่ารักเลยนะ”
ประโยคนี้ประกอบไปด้วยรูปแบบการสื่อสารสองส่วนคือส่วนแรก การออกคำสั่ง และส่วนที่สอง การตัดสินตัวตน
ซึ่งด้วยวิธีการสื่อสารแบบนี้ เด็กอาจจะหยุดการกระทำ ด้วยความรู้สึกว่า หยุดก่อนก็ได้ เพราะแม่/พ่อบอกให้หยุด แต่เด็กก็รับรู้แล้วว่า เขาคือคนที่ไม่น่ารักในสายตาพ่อแม่ ซึ่งคงเป็นที่ตัวเขานี่แหละ ไอเรื่องตีเพื่อนนี่ไม่เกี่ยวเลย
คนหนึ่งแสดงอำนาจที่เหนือกว่า อีกคนยอมรับคำตัดสินด้วยความไม่เต็มใจ ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงดูไม่น่าจะเป็นไปด้วยดีนัก
3) “แม่ทำแบบนี้บ้างดีมั้ย จะชอบมั้ย ฮะ”
ประโยคนี้ทำให้ผู้ฟังรู้สึกอับอาย/ละอายใจ
แม้ว่าอันที่จริงเขาก็รู้อยู่แล้วนั่นหละค่ะ ว่าตีเพื่อนมันไม่ดี เค้าก็ไม่ชอบถูกตี แต่แม่พูดแบบนี้ต้องการให้หนูตอบว่าอะไรล่ะคะ หนูร้องไห้ดีกว่า….แง (อันนี้เหตุการณ์จริงที่ครูพิมเห็นมากับตาค่ะ พอแม่พูดแบบนี้ปุ๊ป น้องร้องไห้หนักมาก คงทั้งกลัวและละอาย ซึ่งน่าจะกลัวมากกว่า)
4) “ถ้ามีครั้งต่อไปนะ แม่จะ….(Time out/ตี/งดของเล่น/ไม่ให้ดูการ์ตูน/ฯลฯ)!”
ประโยคสุดท้ายนี้ขู่กันชัดๆ เลยค่ะ แม้จะเป็นการขู่ที่น่ารักที่สุดในโลกก็ตาม แต่ผลของคำพูดนี้ก็คือการขู่อยู่ดี และเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความกลัว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราควรทำให้เกิดขึ้นกับเด็กเลย เพราะการไม่ทำอะไรสักอย่างด้วยความรู้สึกกลัว ก็ไม่น่าจะส่งผลดีหรือให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เขาไม่ควรทำ และวันหนึ่งหากเขารู้ว่าคำขู่ไม่เป็นจริง หรือกลัวจนเลิกกลัว พฤติกรรมที่เคยหยุดทำอาจกลับมาใหม่หรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิมก็ได้ค่ะ
————————————————————————-
จากตัวอย่างเหตุการณ์ที่ครูพิมยกมาให้ดูนี้ คุณพ่อคุณแม่คงเข้าใจในเรื่องรูปแบบการสื่อสารที่ไม่ส่งเสริมความสัมพันธ์มากขึ้นบ้างแล้วใช่ไหมคะ
ครูพิมเชื่อค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงทุกคน มีความรักและมีเจตนาที่ดีที่จะอบรมสั่งสอนเด็กๆ เมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่การแสดงเจตนารมณ์ของเราบางครั้งก็ต้องมีศิลปะทางภาษาบวกกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กเข้ามาช่วยด้วยสักเล็กน้อยค่ะ เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการจะแก้ไขนั้น เป็นไปได้โดยง่าย มีความถาวร และไม่บ่อนทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว
ในหัวข้อถัดไป ครูพิมจะมาชวนคุยกันต่อนะคะว่า แล้วถ้าไม่พูดแบบนี้ เราควรจะพูดกับลูกอย่างไรดี?
อ่านต่อทันที