ชีวิตความเป็น “คนเมือง” ที่มากขึ้นของพ่อแม่ ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีเวลาในการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองน้อยลง
ใช้เวลานอกบ้านในการทำงาน หาเงิน มากขึ้น และใช้เวลาในบ้านกับการจัดการธุระปะปังต่างๆ
…รวมไปถึงงานบ้านงานเรือนที่ดูมากโข
สรุปก็คือ เป็นพ่อแม่ (ยุคนี้) ช่างยุ่งเสียจริงหนอ เมื่อชีวิตมันยุ่ง เราต่างก็คิดว่า ทำไงดีหละ ให้ลูกยังมีความบันเทิงอยู่ ให้ลูกดูแลตัวเอง (?) ได้ ให้ลูกอยู่นิ่งๆ อาห์…เจ้าหน้าจอสี่เหลี่ยมพวกนี้นี่ไง ตัวช่วยของเรา!
ความคิดทำนองนี้ เกิดขึ้นจริงกับหลายๆ ครอบครัวที่ครูพิมมีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิด และไม่เพียงแต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะคิดว่า อุปกรณ์เหล่านี้เป็นผู้ช่วยเลี้ยงเท่านั้น แต่บางคนยังมองถึงขนาดว่า การที่ลูก (เล็กๆ) ของเราจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะว่ามันแสดงถึงความฉลาดของลูกเราด้วย!
แต่ความคิดเหล่านี้ จะถูกต้องหรือไม่ เรื่องราวต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้พวกเราได้คำตอบได้ค่ะ
คำตอบสำหรับคำถามแรกนี้ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กส่วนใหญ่เห็นว่า เด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรจะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอในทุกรูปแบบ ทั้งโทรทัศน์ smartphones tablet และ วีดีโอเกม ในขณะที่ก็มีบางส่วนเห็นว่าควรเลือกเฉพาะที่มีลักษณะแบบ interaction (ตอบสนองกับเด็กได้เสมือนจริง) ทั้งนี้ก็เพราะเด็กในวัยนี้ (0-2.5 ปี) เป็นช่วงวัยแห่งพัฒนาการทางด้านต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งในแง่ของร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์สังคม
ทั้งนี้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจาก the American Academy of Pediatrics (AAP) ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจไว้ว่า การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กับเด็กเล็ก อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา และส่งผลต่อการนอนที่ไม่เป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก และยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมาย ที่ให้คำแนะนำว่า เด็กๆ ไม่ได้เกิดการเรียนรู้จากการใช้เทคโนโลยีอย่างที่เราคาดหวัง และหลายครั้งที่เด็กๆ เหล่านี้มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาและทักษะการคิด และมีความเป็นไปได้ที่ผู้ปกครองจะมองว่าเด็กเหล่านี้มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้สูงเกินจริง (แปลเป็นภาษาง่ายๆ คือ เรามักคิดเองว่าลูกเราเก่งเพราะได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้)
ครูพิมเองก็ได้มีประสบการณ์กับเด็กๆ จำนวนหนึ่งที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ทั้งที่มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ทุกประการ เด็กๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการพูดช้ากว่าเกณฑ์ และการนอนไม่เป็นเวลา (ตื่นบ่อย งอแงง่าย) และผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยมักบ่นว่า ลูกๆ ของพวกเขามีอาการเหมือนเด็ก “สมาธิสั้น”
เมื่อได้สอบถาม พูดคุย เพื่อที่จะทำการค้นหาสาเหตุและให้คำแนะนำ ครูพิมจึงได้พบว่า ในกลุ่มเด็กๆ ที่มีอาการเหล่านี้ มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 90% ที่ผู้ปกครองให้พวกเขาใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมาตั้งแต่เล็กๆ โดยที่คิดว่ามันไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อพัฒนาการของเด็ก และคิด(เอง)ว่าอุปกรณ์เหล่านี้น่าจะช่วยให้ลูกๆ ของเขามีพัฒนาการที่เร็วกว่าคนอื่น และเป็นเด็กที่ฉลาด แต่แน่นอน เราเห็นผลที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ จำนวนไม่น้อยแล้วว่า ผลที่ได้ไม่เป็นอย่างที่คิด
ทำไมน่ะหรือ? ครูพิมขอสรุปง่ายๆ ผ่านคำตอบ 4 ข้อนี้เลยนะคะ
- เด็กๆ ในวัย 0-2 ปีนี้ เป็นวัยที่ควรได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาทักษะด้านร่างกาย แต่เมื่อหน้าจอสี่เหลี่ยมถูกวางลงบนตัก ก็เป็นอันแน่นอนแล้วว่า เวลาของการ “คลาน” “เดิน” “วิ่ง” “ปีนป่าย” ย่อมลดลง ซึ่งการที่เด็กๆ ไม่ได้มีโอกาสในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็ย่อมส่งผลให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางร่ายกายที่ช้า บ้างเดินไม่คล่อง บ้างก็กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง นอกจากนี้ การที่เด็กไม่มีโอกาสในการใช้พื้นที่บริเวณกว้างๆ ก็ทำให้โอกาสในการ “สำรวจโลกและสภาพแวดล้อมรอบตัว” น้อยลงไปด้วย อีกทั้งการอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ อาจส่งต่อภาวะน้ำหนักเกินของเด็ก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของน้ำหนักยังส่งผลต่อไปถึงเรื่องของสุขภาพอีกทอดหนึ่ง
- เด็กๆ วัย0-2 ปี ควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เพราะเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต และสมองกำลังสร้างตัวอย่างเต็มที่ แต่การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ จะรบกวนการนอน และส่งผลให้เด็กคนนั้นๆ เกิดภาวะหลับยากกว่าปกติ หรือจะเรียกว่า นอนไม่หลับก็ได้เช่นกันค่ะ และแน่นอนว่าเด็กที่นอนไม่พอ ก็มักจะขี้หงุดหงิด อารมร์แปรปรวนง่าย (คิดดูว่าเด็กๆ ที่ยังสื่อสารกับคนอื่นได้ไม่เก่ง จะหงุดหงิดแค่ไหน เพราะขนาดเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เวลานอนไม่หลับยังหงุดหงิดเลย จริงไหมคะ)
- Physical Play หรือการเล่นที่ได้ใช้ทักษะทางร่างกาย ส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาโดยตรง การเล่นกับดิน ทราย สนามหญ้า และพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่าง อาจจะดูเลอะเทอะ แต่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองอย่างมาก แต่การใช้หน้าจอจิ้มภาพโคลน หรือกดปุ่มฟังเสียงคลื่น ไม่ได้ให้ประสบการณ์เหล่านี้กับเด็ก บางคนจึงกลายเป็นเด็กที่กลัวดิน กลัวทราย กลัวหญ้า เพราะกว่าจะได้สัมผัสก็โตเสียแล้ว
- เด็กๆ ต้องการโอกาสในการพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน(จริงๆ) เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาและสังคม การคุยกับแมวในคอมพิวเตอร์ หรือเล่นกับหุ่นยนต์ในแท็บเล็ต อาจจะส่งเสียงตอบกลับ แต่ไม่ได้ส่งอารมณ์ความรู้สึกให้กับเด็กๆ ด้วย และนี่ก็ทำให้เด็กๆ หลายคนไม่สามารถตอบสนองต่อสังคมหรือจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เพราะมีปัญหาด้านการสื่อสาร พอพูดไม่เป็น สื่อสารไม่เข้าใจ ก็หงุดหงิด ใช้การแสดงออกทางอารมณ์ในการสื่อสารกับคนรอบตัว แทนที่จะสื่อสารด้วยคำพูด
เทคโนโลยีนั้น มีข้อดีอยู่ไม่น้อยค่ะ หากเราเลือกใช้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกจุดประสงค์ สำหรับครูพิมเองนั้น คิดว่าเราควรจะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ต่อเมื่อมันเป็นเรื่องจำเป็น หรือเป็นสิ่งที่ทดแทนด้วยสิ่งอื่นไม่ได้
แต่สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ต้องการการเปิดประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพจากสิ่งรอบตัว ครูพิมไม่คิดว่า โปรแกรมต่อบล็อกสุดล้ำ จะสามารถทดแทนการต่อบล็อกไม้หรือพลาสติกได้ หรือการฟังเสียงของสัตว์ต่างๆ ผ่านรายการทีวีทุกวัน ก็ไม่อาจทดแทนการวิ่งเล่นกับน้องหมาน้องแมวหรือการเที่ยวสวนสัตว์สักครั้งได้เช่นกัน
ดร.Dimitri Christakis ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพ พฤติกรรม และพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลเด็ก ซีแอทเทิล ได้ให้ข้อคิดที่ครูพิมรู้สึกประทับใจมากข้อความหนึ่ง ซึ่งเขากล่าวถึง Applications สำหรับเด็กๆ ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกให้กับลูกๆ ของพวกเขาว่า “นี่มันไม่ใช่โลกแห่งความจริง และแท้ที่จริงแล้ว เด็กๆ ต่างมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ว่าโลกแห่งความจริงเป็นอย่างไร ”
อะไรทำให้เราเลือก “สิ่งทดแทน” เหล่านี้ แทนการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีโอกาสกับประสบการณ์จริง และสิ่งที่ให้คุณค่ากับเด็กมากกว่า นี่อาจจะเป็นคำถามที่เราต้องเริ่มที่จะถามและหาคำตอบให้กับตัวเอง
และเมื่อเรา “เลือก” ที่จะหาคำตอบแล้ว ครูพิมจะขอเป็นหนึ่งเสียงสนับสนุน ให้ผู้ปกครองเลือกใช้ “กิจกรรมที่สร้างสรรค์” ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ อันเป็นที่รักของเราทุกคน เพราะครูพิมมั่นใจว่าความรักและความเข้าใจที่ถูกต้องของพ่อแม่และผู้ปกครอง จะทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายๆ ได้อย่างแน่นอนค่ะ
และสำหรับผู้ที่สนใจและมีคำถามต่อไปว่า แล้วเมื่อไหร่จึงควรใช้อุปกรณ์เหล่านี้ และจะให้ได้ผลดี ต้องใช้อย่างไร เรื่องนี้เราจะมาคุยกันต่อในโอกาสต่อไปนะคะ รับรองว่าสาระแน่นไม่แพ้กันแน่นอนค่ะ