Talk to Parents

5 เทคนิคปราบวายร้ายตัวจิ๋ว

terribletwo

ช่วงเวลาที่เจ้าตัวน้อยอายุประมาณ 2 ขวบ มักจะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาพ่อๆ แม่ๆ ต่างลงคะแนนเสียงว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดแล้ว (ถ้าไม่นับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่น) เพราะต้องทั้งปรับตัว ปรับใจ ปรับอารมณ์ให้สามารถควบคุมสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของเจ้าตัวเล็ก ที่บางครั้งก็เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเมื่อตอน 1 ขวบ กลายเป็นหลังมืออย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะพฤติกรรมการ “Say No” และพฤติกรรม “บู๊แหลก ไม่กลัวใคร”จนถึงกับมีศัพท์ที่เรียกกันว่า “Terrible Two” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะในหมู่นักวิชาการหรือในหมู่แม่ๆ ก็ตาม

ซึ่งจากการที่ถึงกับมีการบัญญัติคำศัพท์นี้ บอกเราเป็นนัยๆ ว่า ลูกคุณไม่ได้เป็นแบบนั้นคนเดียวหรอกน่า (แต่จะดีกว่าถ้าไม่เป็น – คุณแม่ๆ คงคิดแบบนี้ใช่ไหมคะ) แม้ช่วงของ Terrible Two จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ (หรือบางครั้งก็นานกว่านั้น) แต่กว่าจะผ่านพ้นไปได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยอยู่เหมือนกัน เหนื่อยกายไม่เท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่บางคนถึงกับเหนื่อยใจและคิดว่า โอ…ลูกน้อยของเราดูจะไม่ใช่เบบี๋ขี้อ้อนอ่อนหวานอีกต่อไปเสียแล้ว

แต่อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นกันเลยค่ะ เพราะอันที่จริงแล้ว อารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็กในวัยนี้นั้น ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย และมักจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้อยู่อย่างถาวร หากว่าเราเข้าใจและรู้วิธีในการจัดการเพื่อไม่ให้พฤติกรรมเหล่านั้นติดตัวเด็กๆ ไปจนโต และจะยิ่งดีกว่าไหม ถ้าเราจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมอันชวนกรี๊ดเหล่านั้นได้ตั้งแต่แรกๆ

ว่าแล้วก็อย่ารอช้า เราไปทำความเข้าใจกับ 5 เทคนิคจากเหล่านักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก ที่จะช่วยให้คุณจัดการกับช่วงวัยนี้ได้อย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้กันค่ะ

เทคนิคที่ 1 : พูดกับลูกให้มากที่สุดตั้งแต่ยังแบเบาะ

ข้อนี้หลายคนอาจจะงง ว่าเอ๊ะ พูดกับลูกแล้วยังไง เกี่ยวอะไรกับพฤติกรรมก้าวร้าว ข้อนี้ครูพิมมีคำอธิบายค่ะ แต่ก่อนอื่นขอขยายความให้ฟังก่อนว่า ทำไมต้องพูดกับลูกเยอะๆ ตั้งแต่ยังเป็นเบบี๋ ที่ต้องให้พูดกับเจ้าตัวเล็กให้มาก ก็เพราะการพูดคุยจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถึงวัยที่สามารถสื่อสารได้ หรือหากยังสื่อสารไม่เก่ง เขาก็จะยังพอที่จะใช้ภาษามือหรือสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อที่จะแสดงความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากว่าเขามีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี และไม่ได้รับการกระตุ้นตั้งแต่เล็กๆ เขาก็จะใช้การสื่อสารในแบบที่เขาทำได้ นั่นคือ แสดงอาการก้าวร้าว หรือปฏิเสธอย่างไร้เหตุผล ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ว่าเขาไม่มีเหตุผล เพียงแต่ไม่สามารถอธิบายออกมาได้ต่างหาก ว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร จึงได้แสดงออกมาในรูปแบบดังกล่าวนั่นเองค่ะ

เทคนิคที่ 2 : เสนอตัวเลือกเสมอๆ

“เช้านี้ทานอะไรดีลูก ไข่ต้ม หรือ ปลาทู ดีคะ”
“น้องบุ๊คเลือกของเล่นได้ 1 ชิ้นนะครับ หนูจะเอาอะไรระหว่างรถแข่ง หุ่นยนต์ หรือชุดตัวต่อ”
คำถามพร้อมตัวเลือกเหล่านี้คือคำถามที่ชวนตอบมากกว่าชวนปฏิเสธค่ะ

ซึ่งวิธีการเสนอตัวเลือกนี้ นอกจากจะให้ผลทางด้านพฤติกรรมคือ ป้องกันการเอาแต่ปฏิเสธแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีอิสระทางความคิด และรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญด้วยค่ะ โดยวิธีการก็คือ พยายามเสนอตัวเลือกให้เด็กๆ ในกิจกรรมที่สามารถทำได้ โดยตัวเลือกนั้นจะต้องเป็นตัวเลือกที่คุณก็สามารถที่จะให้ได้ และไม่เป็นจำนวนตัวเลือกที่มากเกินไป เราอาจยึดหลักง่ายๆ ว่า ให้มีจำนวนตัวเลือกตามวัย เช่น 2 ขวบ ให้ 2ทางเลือก 3 ขวบ ให้ 3 ทางเลือก เป็นต้น

เทคนิคที่ 3 : เช็คความต้องการพื้นฐานก่อนจะมองหาสาเหตุอื่น

บ่อยครั้งเลยค่ะที่ครูพิมและผู้มีประสบการณ์กับเด็กวัย 2 ขวบต่างก็พบว่า พฤติกรรม tantrum หรืออาการก้าวร้าวโวยวายของเด็กๆ ในวัยนี้ ไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นไกลอะไร นอกไปจากเป็นเพราะความต้องการพื้นฐานอย่าง หิว ง่วง เหนื่อย หรือแม้แต่อาการเจ็บป่วยไม่สบาย ซึ่งเมื่อประกอบการความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ในช่วงวัยนี้ จึงทำให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาดูรุนแรงกว่าปกติ ทั้งๆ ที่เกิดจากสาเหตุธรรมดาๆ อย่างที่ได้ว่ามาแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ พึงตรวจสอบก่อนทุกครั้งเมื่อพบว่าเจ้าตัวเล็กเริ่มแสดงอาการก็คือ เขาหิวไหม กินมากไป น้อยไปหรือไม่ ได้เวลานอนกลางวันแล้วหรือเปล่า หรืออาจจะยังไม่ได้ขับถ่าย ซึ่งถ้าเช็คดูแล้วพบว่า ข้อใดข้อหนึ่งในนี้มีความเป็นไปได้ ก็ขอให้จัดการเสียให้เรียบร้อย เพราะบางทีเรื่องที่ดูเหมือนใหญ่ ก็มาจากสาเหตุเล็กๆ แบบนี้อยู่หลายครั้งค่ะ

เทคนิคที่ 4 : ไม่ตอบสนองต่ออาการ tantrum โดยไม่จำเป็น

ข้อนี้จัดว่ายากสำหรับผู้ปกครองหลายๆ คนค่ะ เพราะแม้จะยอมรับว่าพฤติกรรมการกรีดร้อง ดิ้นบนพื้น ปาข้าวของ หรือพฤติกรรมทำนองนี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่ารักและไม่อาจยอมรับได้ แต่ครั้นจะให้ปล่อยให้ทำอยู่อย่างนั้น ก็เห็นจะทนไม่ไหว บ้างก็อาย บ้างก็กลัวลูกเจ็บ บ้างก็คิดว่าลูกต้องทำจนตายแน่ๆ เรียกว่าใจแข็งได้ไม่เท่าลูก เลยเป็นอันว่าหลายครั้งที่เจ้าตัวเล็กเป็นฝ่ายสมหวังไป เมื่อเรียกร้องอะไรสักอย่างด้วยวิธีนี้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ เริ่มต้นวิธีการนี้ ด้วยเพียงเพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับ “ความต้องการ” ของตัวเองอย่างไร ไม่รู้ว่าจะต้องสื่อสารแบบไหน ในใจของเด็กคนคิดประมาณว่า “ลงไปดิ้นนี่มันก็ง่ายดีนะ ร้องไห้ก็ทำได้สบายมาก อุ๊ย! ทำแล้วได้ของเล่นด้วยเหรอนี่ หรือบางทีก็ไม่ต้องกินข้าวต่อ โอ้โห ดีจังแฮะ” และเมื่อมีครั้งที่ 1 แล้วย่อมมีครั้งที่ 2 3 4 ตามมา ซึ่งแน่นอนว่ามักจะ “หนักข้อ” ขึ้นเรื่อยๆ หรือติดเป็นนิสัยในที่สุดค่ะ

ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ควรจะต้องโน้ตไว้ในใจเลยก็คือ อย่าได้อ่อนไหวต่อพฤติกรรมเหล่านี้ เว้นเสียแต่พฤติกรรมที่เขาทำจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมนี้เกิดขึ้น “ครั้งแรก” ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเด็กจะเลือกใช้วิธีใดในครั้งต่อไปนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้อะไรตอบสนองจากวิธีการก่อนหน้า สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ เพิกเฉยเสีย (แต่ไม่ต้องถึงขนาดแสดงท่าทางรังเกียจราวกับไม่ใช่ลูกตัวเองนะคะ) หรือหากอยู่ในบ้าน ก็อาจจะปล่อยให้เขาได้ใช้พลังอาละวาดอยู่ในมุมใดมุมหนึ่ง ส่วนคุณก็ทำธุระประปรังอะไรไปตามปกติ (ในระยะที่มองเห็นเขาได้ เผื่อว่าจะเกิดอันตราย) เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง นอกจากจะเหนื่อยไปเองแล้ว เขายังจะเรียนรู้ได้ว่า วิธีนี้คงไม่ได้ผล ทีนี้เราจึงค่อยเข้าไปเจรจาและสอนให้เขารู้จักวิธีการแสดงออกที่ถูกต้องเมื่อต้องการจะทำหรืออยากจะได้อะไรสักอย่างค่ะ

http://media4.onsugar.com
http://media4.onsugar.com
เทคนิคที่ 5 : พูดว่า “ได้” ให้มากที่สุด

ในขณะที่เด็กๆ ในวัยนี้ชอบพูดคำว่า “ไม่” ผู้ใหญ่อย่างเรา กลับต้องเรียนรู้ที่จะพูดว่า “ได้” ให้มากที่สุดค่ะและสำหรับการพูดว่า “ได้” ในที่นี้นี้ ก็ไม่ใช่หมายถึงการให้ต่อล้อต่อเถียงกับเจ้าตัวยุ่งเวลาที่เขาบอกว่าไม่นะคะ แต่หมายถึงว่า ในสถานการณ์ปกติทั่วไป เมื่อเราถูกร้องขออะไรสักอย่างจากตัวเล็ก หากไม่ใช่สิ่งที่เหนือบ่ากว่าแรงนัก ขอให้เราพยายามตอบตกลงให้มากที่สุดค่ะ ที่ครูพิมต้องพูดแบบนี้ก็เพราะว่า หลายๆ ครั้งเราปฏิเสธหรือห้ามเด็กๆ ในเรื่องที่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไรนักหรือไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีอะไร แต่เพียงเพราะเราขี้เกียจหรือรำคาญ เช่นบางครั้งเขาอยากจะขอเป็นคนกดลิฟท์เอง อยากตักอาหารเองบ้าง หรือแม้แต่อยากจะเลือกเสื้อผ้าใส่เอง เราก็อาจจะเผลอพูดออกไปอย่างแทบไม่ต้องคิดว่า ไม่ต้องหรอกแม่ทำเองเร็วกว่า หรือ อย่ามาเซ้าซี้น่ารำคาญ (ฮั่นแน่ เคยพูดมาเหมือนกันใช่มั้ยล่ะค๊า)

ที่ต้องให้ตอบตกลงหรือพูดว่า “ได้” นี้ เพราะประโยชน์ของมันมิใช่เพียงแค่ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกเป็นที่รักเท่านั้นนะคะ แต่การที่เรา Say Yes อยู่เสมอๆ จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้อง Say No ได้ผลและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าอีกด้วย ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากใครสักคนตามใจเราตลอดเลย แต่วันหนึ่งเขาเกิดไม่ตามใจขึ้นมา เราก็จะคิดแล้วว่า โอ..สงสัยอันนี้จะซีเรียสแฮะ เรื่องนี้คงต้องยอมแล้วหละ ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่เคยจะอนุญาตให้เราทำอะไรเลย วันหนึ่งเมื่อเกิดเรื่องจริงจัง เขาก็ห้ามเราอีก เราก็คงจะคิดแค่ว่า ถูกห้ามอีกแล้ว ก็คงเหมือนเดิมนั่นแหละ ถ้างั้นก็อย่าไปสนใจเลย อยากจะทำอะไรก็ทำดีกว่า สำหรับเด็กๆ เองเขาก็มีมุมมองต่อการอนุญาตและการปฏิเสธแบบนี้เช่นกันค่ะ

เป็นยังไงบ้างคะ สำหรับเทคนิค 5 ข้อที่ครูพิมนำมาฝาก หลายข้อคุณแม่อาจจะบอกว่าทำได้อยู่แล้ว แต่หลายข้ออาจจะต้องขอเวลา อันนี้ไม่ว่ากันค่ะ เพราะนอกจากเด็กๆ จะต้องปรับตัวแล้ว ผู้ใหญ่เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาเช่นกัน จะเรียกว่าโตไปพร้อมๆ กันก็ได้ค่ะ แต่คงจะดีกว่า ถ้าเราจะเติบโตไปด้วยกันอย่างสันติสุข มากกว่าที่จะโตไปอย่างลำบากยากเข็นด้วยกันทั้งคู่ จริงไหมล่ะคะ

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *