Talk to Parents

ติดตุ๊กตา : ปัญหา…หรือเรื่องธรรมดาของเด็ก

comfort object

“น้องเน่า” คืออีกหนึ่งคำที่หลายๆ บ้านที่มีลูกเล็กคงคุ้นเคยกันดีเลยใช่ไหมล่ะคะ ไม่ว่าจะเป็น น้องเน่าที่มาในรูปแบบหมอน ตุ๊กตา ผ้าห่ม หรือของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ที่เจ้าตัวน้อยของเราติดเป็นพิเศษชนิดที่ว่า กินนอนด้วยกันแทบจะตลอดเวลาเลยทีเดียว ซึ่งพฤติกรรมติดน้องเน่านี้ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยรู้สึกวิตกกังวล และสอบถามครูพิมเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเข้ามามากทีเดียวค่ะ

อันที่จริงแล้ว พฤติกรรมการติดสิ่งของในเด็กเล็กนั้นจะเรียกว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ก็เห็นจะไม่ผิดนักค่ะ เพราะเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปในเด็กวัย 0-3 ปีทั่วโลก และมักจะพบได้มากในกลุ่มเด็กชาติตะวันตก โดยพฤติกรรมลักษณะนี้ ในเชิงวิชาการ เราเรียกกันว่า การถ่ายโอนความรักหรือความผูกพันไปยังสิ่งของ (Children’s Attachment to Transitional Objects) และเรียกสิ่งของชิ้นนั้นว่าเป็น “comfort object” แต่ถ้าจะให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็หมายถึงว่า เด็กใช้ตุ๊กตาหรือสิ่งของเหล่านั้นเป็นเสมือนตัวแทนของคนที่เขารักหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนมีเพื่อนที่สนิทกันมากๆ อยู่ด้วยตลอดเวลา อะไรทำนองนี้ก็ได้ค่ะ

สาเหตุที่เด็กๆ มักจะต้องมี “เพื่อน” ในลักษณะนี้ ก็เพราะในช่วงหลังจากขวบปีแรก เด็กๆ จะเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองห่างจากพ่อแม่ หรือบุคคลที่เลี้ยงดูมากขึ้น เพราะแน่นอนว่า เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น ผู้เลี้ยงก็อาจจะมีการให้เวลากับเด็กน้อยลง รวมไปถึงช่วงนี้เป็นช่วงของการหย่านม ที่ทำให้ความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างเด็กกับแม่ค่อยๆ ลดลงไปด้วย อีกทั้งเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น บางครั้งเด็กจึงอาจรู้สึกเหมือนขาดที่พึ่งพิงได้ ความรู้สึกกลัวและกังวลใจนี้เอง ทำให้เด็กเริ่มที่จะถ่ายโอนความรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิดไปยังสิ่งของที่เด็กชอบหรืออยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของการเริ่มติดสิ่งของชิ้นนั้นๆ นั่นเองค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้ปกครองหลายๆ ท่านคงเริ่มรู้สึกผ่อนคลายกับพฤติกรรมการติดสิ่งของกันบ้างแล้วใช่ไหมคะ แต่แน่นอนว่า หลายคนก็ยังคงมีความกังวลและเกิดคำถามต่อว่า แล้วเราจะทำอย่างไรดี กับพฤติกรรมการติดสิ่งของนี้ โดยเฉพาะเมื่อของชิ้นนั้นเริ่มที่จะสกปรกและดูไม่น่ากอดเอาเสียเลย ในบทความนี้ ครูพิมก็มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาฝากกันด้วยค่ะ

kids-and-loveys-why-some-children-need-a-comfort-object-1-size-3

กลยุทธ์ช่วยลูกน้อยค่อยๆ ห่างจาก “น้องเน่า” อย่างเป็นธรรมชาติ

1) อย่าบังคับให้เด็ก “ทิ้ง” หรือห่างจากตุ๊กตาแบบหักดิบ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า พฤติกรรมนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม เด็กจะลดพฤติกรรมนี้ลงไปได้เอง

2) ให้คิดเสมือนว่า ตุ๊กตาหรือของชิ้นนั้น เป็นเสมือนสมาชิกครอบครัวอีกคนหนึ่ง อย่าล้อเลียนหรือพูดเสมือนว่าลูกมีปัญหาหรือเป็นตัวประหลาด เพราะเด็กเล็กจะยังไม่เข้าใจระหว่างสิ่งที่มีชีวิตจริงๆ กับ สิ่งที่เด็กคิดหรือจินตนาการว่ามันมีชีวิต

3) เมื่อต้องการที่จะนำตุ๊กตาหรือผ้าห่มที่ลูกติดไปซัก ควรมีการบอกให้ลูกรับรู้ และใช้เทคนิค “เสมือนว่ามีชีวิต” (ตามที่เราทำไว้แล้วในข้อ2) เพื่อบอกให้ลูกเข้าใจว่า น้องเน่าก็ต้องอาบน้ำเหมือนกันกับลูก ซึ่งในจุดนี้ เราอาจจะให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการทำความสะอาดไปด้วยกันก็ได้นะคะ

4) พยายามหากิจกรรมอื่นๆ ที่เด็กสนใจให้ทำ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้เขาต้องวางมือจากสิ่งที่เด็กติด เช่น กิจกรรมการปั้น กิจกรรมการเล่นกีฬา (เช่นโยนบอล) หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้มือทั้ง 2 ข้างในการทำหรือเล่น

5) สร้างความรัก ความผูกพันกับลูกให้มากขึ้น และสร้าง “เวลาคุณภาพ” ร่วมกันกับลูก เพื่อชดเชยความรู้สึกขาดหรือการได้รับความรักความอบอุ่นน้อยลงกว่าช่วงวัยเด็ก ซึ่งข้อนี้นับว่าไม่เพียงแต่สำคัญต่อการเลิกติดตุ๊กตาของลูกเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างคุณกับลูกอีกด้วยค่ะ

โดยปกติแล้ว พฤติกรรมการติดสิ่งของนี้ จะหายไปเองเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงวัย 4 ปีขึ้นไป หรือเมื่อเด็กเริ่มที่จะมีกลุ่มเพื่อน แต่หากพฤติกรรมนี้ยังคงอยู่ การเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษา ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด แต่ในเบื้องต้น (และแน่นอนว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด) ก็คือ การสร้างความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยให้กับเด็ก เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ตุ๊กตาแสนรักกี่สิบตัว ก็ไม่อาจเทียบเท่าความรู้สึกที่แท้จริงที่ได้จากคุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ 

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *