เรื่องของ “ตัวเลข” เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตจากผู้ปกครองที่ครูพิมมักได้รับอยู่เสมอๆ เลยค่ะ
อ๊ะๆ แต่ตัวเลขที่ว่า ไม่ใช่เลขที่มาวันที่ 1 กับวันที่ 16 นะคะ อิอิ แต่หมายถึงเรื่องของเลขกับช่วงวัยของเด็กๆ เช่นว่า
- ลูก 2 ขวบแล้ว ยังนับเลขไม่เป็นเลยครับ
- ลูก 4 ขวบบวกเลขไม่ได้ หรือบวกไม่คล่องค่ะครูพิม
หรือบางคนก็มาในแนวตรงกันข้ามเช่นว่า
- ลูกขวบนิดๆ เองค่ะ แต่นับเลขได้ถึง 20 แน่ะ!
เอ… จะเป็นไปได้จริงไหม และแต่เด็กอายุเท่าไหร่ ควรรู้เรื่องตัวเลข ถึงแค่ไหน ลูกเราพัฒนาการช้าไปมั้ย แล้วถ้าอยากช่วย “ส่งเสริม” เด็กๆ ในด้านนี้ เราควรจะทำอย่างไร? ถ้าอยากรู้ ตามครูพิมมาเลยค่ะ (ตามมาบรรทัดถัดไปนี่หละค่ะ ไม่ต้องไปไหนไกล)
เด็กวัย 1 – 2 ปี :
ที่จริงแล้ววัยนี้แทบจะยังไม่มี concept ในเรื่องตัวเลขเลยค่ะ ที่เราเห็นว่าเขาสามารถนับเลข 1 – 10 หรือมากกว่าได้นั้น ส่วนใหญ่มาจากความจำมากกว่าความเข้าใจ ถ้าเด็กๆ ได้ท่องบ่อยๆ และรู้สึกสนุก ก็จะจำได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ ค่ะ นอกจากนี้ หากเราสอนเด็กๆ วัยนี้ให้ชี้ตัวเลขแล้วท่องบ่อยๆ ก็จะเห็นว่าเขาจำชื่อเรียกของตัวเลขตัวนั้นๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจาก concept ในการท่องจำชื่อคนหรือสิ่งของทั่วไปค่ะ
เทคนิคช่วยส่งเสริมลูก : เด็กในวัยนี้มีความจำที่ดีมากและเรียนรู้ค่อนข้างเร็วค่ะ กิจกรรมที่ครูพิมแนะนำสำหรับเด็กๆ ในวัยนี้ จะเป็นกิจกรรมประเภท sorting หรือ แยกประเภท อย่างในกรณีนี้ ก็จะเป็นการแยกตัวเลข โดยเริ่มจากการแยกตัวเลขเพียงไม่กี่จำนวนก่อน (เช่น 1 2 3) แล้วค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นค่ะ ( เพิ่มเลข 4 กับ 5 เข้าไป เป็นต้น) หรือจะชวนเด็กๆ ร้องเพลงเกี่ยวกับตัวเลข นับนิ้วมือในเวลาว่าง หรือจะนับก้าวที่เดินเป็นจังหวะ 1..2 1.. 2 แบบนี้ก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีให้กับเด็กๆ ในเรื่องตัวเลขแล้วค่ะ แถมยังเป็นการสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ อีกด้วยนะคะ
เด็กวัย 2-3 ปี :
ในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าเจ้าตัวเล็กของเรา นับเลขได้ยาวมากขึ้น และอาจจะดูเหมือนว่าเขาเข้าใจการนับ เช่น ชี้ของเล่นแล้วนับ 1 2 3…ได้แล้ว แต่ในความเป็นจริง เด็กวัยนี้ก็ยังไม่มี concept ในเรื่องของจำนวน และยังสับสนหากมีการหยุดนับ หรือให้นับจำนวนสิ่งของจริงๆ ก็จะยังนับได้ไม่ถูกต้องนักค่ะ
เทคนิคช่วยส่งเสริมลูก : เด็กๆ วัยนี้ส่วนใหญ่เริ่มจำชื่อเรียกของตัวเลขต่างๆ ได้แล้วค่ะ (รู้ว่า 1 คือหนึ่ง 2 คือสอง…) กิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับวัยนี้ อาจจะเป็น การหาตัวเลข เช่น ให้เด็กๆ หยิบตัวเลขที่เราพูดออกจากกอง หาตัวเลขจากในหนังสือ หรือชี้ตัวเลขจากสถานที่รอบๆ ตัว แล้วตอบว่าเป็นเลขอะไร เป็นต้นค่ะ กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยเรื่องความจำแล้ว ยังฝึกให้เด็กๆ รู้จักการสังเกตอีกด้วยนะคะ นอกจากนี้ การเริ่มสอบนับจำนวนแบบง่ายๆ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะสำหรับเด็กวัยนี้ โดยอาจจะสอนการนับผ่านเพลง (เช่นเพลง 5 little monkeys , 3 little ducks) ซึ่งวิธีนี้ครูพิมได้ใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อให้เด็กๆ สนุกสนานกับการนับ และมีทัศนคติที่ดีกับเรื่องของตัวเลขค่ะ
เด็กวัย 3- 4 ปี :
ในวัยนี้ เด็กๆ ควรจะเข้าใจการนับจำนวนแล้วค่ะ แต่อาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องความมากน้อย หรือความหมายของจำนวน เช่น ไม่เข้าใจว่า 3 มากกว่า 2 หรือ 10 คือเยอะ 1 คือน้อย (แต่เข้าใจเรื่องความมากกับความน้อยแล้วนะคะ เช่นรู้ว่าตัวเองได้ขนมน้อยกว่าเมื่อวาน ฮ่า… เพียงแต่ไม่เข้าใจเมื่อเป็นตัวเลขเท่านั้นเอง)
เทคนิคช่วยส่งเสริมลูก : เด็กๆ วัยนี้เริ่มที่จะชอบการนับแล้วหละค่ะ เราจึงสามารถชวนเด็กๆ นับจำนวนสิ่งของต่างๆ รอบตัว หรือเวลาที่เด็กๆ ขอขนม ก็ลองถามก็ได้ค่ะว่า จะเอากี่ชิ้น พอให้แล้วก็ลองให้เขานับดูว่าครบหรือเปล่า แบบนี้ก็ได้นะคะ แต่จำนวนที่ถามอาจจะยังไม่ใช่จำนวนที่มากนัก โดยปกติจะอยู่ที่หลักสิบค่ะ
เด็กวัย 4-5 ปี :
สำหรับเด็กๆ วัยนี้ที่ปกติก็จะอยู่ในระบบโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว จะมีทักษะด้านคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นชัดเจน คือเข้าใจการนับ นับได้ถูกต้องแม่นยำ และควรเข้าใจเรื่องความมากน้อยของจำนวนแล้วด้วยค่ะ
เทคนิคช่วยส่งเสริมลูก : ปกติแล้วเด็กๆ ในวัยนี้มักชอบที่จะแสดงความสามารถใหม่ๆ และภาคภูมิใจในตัวเองอยู่แล้ว เช่น อยากจะที่นับเลข บวกลบ บอกจำนวนสิ่งของ ผู้ปกครองก็อาจใช้โอกาสนี้ในการชมเชยความสามารถของเขาก็ได้ค่ะ และหากต้องการส่งเสริมความสามารถของเด็กๆ ในวัยนี้ การเล่นเกมที่ช่วยเพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์เช่น เกมซื้อของ ก็น่าสนใจไม่น้อยนะคะ
เด็กวัย 5-6 ปี:
เด็กๆ วัยนี้ ควรที่จะมีความเข้าใจในหลักการพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ เช่น การจัดลำดับมากน้อย การบวก ลบเลขอย่างง่ายๆ ด้วยการนับนิ้ว และการตอบจำนวนวัตถุน้อยชิ้นด้วยปากเปล่าค่ะ
เทคนิคช่วยส่งเสริมลูก : เด็กๆ วัยนี้โตพอที่จะทำกิจกรรมทางคณิตศาสตร์ได้โดยตรงแล้ว ผู้ปกครองอาจจะลองหาเกมกระดานหรือเกมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านนี้มาให้เด็กๆ เล่นก็ได้นะคะ จะเป็นประเภทเกมคลาสสิกอย่างบันไดงู แบบนี้ก็สนุกได้หลายชั่วโมงแล้วหละค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะ สรุปลำดับขั้นความเข้าใจเรื่องตัวเลขที่ครูพิมนำมาให้ดูกัน 🙂
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปนี้เป็นเพียงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ แต่ไม่จำเป็นว่าเด็กๆ ทุกคนจะต้องมีพัฒนาการตามนี้ทั้งหมด บางคนอาจจะช้ากว่า เร็วกว่าบ้าง หากไม่ช้าจนเกินไป (ไม่เกินปี) โดยปกติก็ยังไม่ถือว่าเป็นพัฒนาการที่บกพร่องค่ะ อย่างไรก็ตาม การที่ลูกของเรามีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กคนอื่น เราก็อาจจะดูว่าเขาอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไปหรือเปล่า ถ้าเป็นเกณฑ์ปกติของเขา ก็ยังไม่ต้องรีบร้อนค่ะ เพราะเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ก็จะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่าเด็กๆ มีพัฒนาการที่ผิดปกติ ครูพิมแนะนำให้ปรึกษากับคุณหมอหรือนักจิตวิทยาพัฒนาการโดยตรงก็จะดีที่สุดค่ะ เพราะความล่าช้าบางอย่างก็มีความผิดปกติที่เราจะต้องทำการแก้ไขให้ตรงจุด
อย่างไรก็ตาม *การที่ลูกของเราจะรู้ช้าหรือรู้เร็วกว่าคนอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเท่ากับว่าลูกของเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือเปล่า* เพราะครูพิมเชื่อว่าเรื่องบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเร่งให้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ และไม่จำเป็นต้อง “เปรียบเทียบ” กับเด็กคนอื่น โดยเฉพาะหากมันเป็นสิ่งที่เมื่อถึงเวลาก็จะต้องเกิดขึ้นเองอยู่แล้ว
ครูพิมคิดว่าการโฟกัสที่ “พัฒนาการส่วนบุคคล” เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ เพราะหากเราโฟกัสที่ “ความเหนือกว่าคนอื่น” ผลร้ายก็ไม่ได้ตกอยู่ที่ใครหรอกค่ะ นอกจากลูกของเราเอง ที่จะต้องแข่งขันกับคนอื่นตลอดเวลา แทนที่จะได้ภาคภูมิใจกับพัฒนาการที่ดีขึ้นของตัวเอง (ซึ่งครูพิมคิดว่าเด็กๆ ทุกคนมีสิทธิพัฒนาตนเองได้)
และสำหรับกิจกรรมที่ครูพิมแนะนำในบทความนี้ จะเป็นการแนะนำแบบกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางนะคะ ในโอกาสหน้า ครูพิมจะพยายามรวบรวมกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการแต่ละช่วงวัยแบบเจาะลึกมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกไปใช้กันอีกทีค่ะ
แล้วพบกันในตอนหน้านะคะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก