Talk to Parents

เลี้ยงเด็กให้ “อารมณ์ดี” สำคัญที่สุด

better-sense-of-humor-better-sense-of-lifeการคิดถึงเรื่องที่อยากจะเขียนนี่มันไม่ง่ายเลยนะคะ ไม่ใช่ว่าคิดไม่ออกหรอก…
แต่อยากจะให้ content แรกของ blog PimandChildrenนี้ เล่าถึงเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตเด็กและผู้ปกครองจริงๆ… 🙂

เพราะตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีแบบเป็นทางการที่ได้คลุกคลีตีโมงอยู่กับเด็กๆ  ครูพิมก็ได้เจอเหตุการณ์น่าประทับใจมากมาย สถานการณ์อันหลากหลาย รวมไปถึงคำถามจากเหล่าบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อย ที่มีทั้งแนวถามขำๆ ไปงั้นๆ จนไปถึงแนวจริงจังซึ่งมีตั้งแต่จริงจังเล็กน้อย จริงจังมาก จนถึงจริงจังเกินไป!

พูดถึงเรื่อง ขำๆ ทำให้ครูพิมนึกถึงประโยคหนึ่งที่ไม่ทราบแหล่งที่มา แต่ไม่อยากให้เป็นประโยคที่ไม่มีที่ไป นั่นคือประโยคที่ว่า

“people with a good sense of humor  have a better sense of life”  

ประโยคนี้แปลในแบบฉบับของครูพิมได้ว่า“คนที่มีอารมณ์ขันมักจะใช้ชีวิตได้อย่างฉลาด”

ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับความหมายที่ซ่อนอยู่ในประโยคนี้ เราลองมาคิดอะไรเล่นๆ กันดูสักอย่างสองอย่างกันดูดีไหมคะ

  • อย่างแรก มันเป็นเรื่องยากใช่ไหมคะที่เราจะโกรธคนที่ยิ้มให้เรา หรือแค้นเคืองคนที่มักจะสร้างเสียงหัวเราะในวงสนทนา
  • อย่างที่สอง รู้สึกเหมือนกันไหมคะว่า คนที่อารมณ์ดีก็มักจะเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก อีกทั้งมักจะได้รับการสนับสนุนและการให้อภัยในความผิดเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเราเอ่ย…?

ก็กำลังบอกว่า คนที่อารมณ์ดีส่วนใหญ่มักจะเป็น “ที่รัก” ยังไงล่ะคะ ไม่เชื่อเราก็ลองนึกชื่อคนใกล้ที่เรารู้สึกชื่นชอบดูสักสองสามคน เชื่อขนมกินเถอะว่า 2 ใน 3 ต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ดีอย่างแน่นอน  และที่ยิ่งน่าแปลกใจไปกว่านั้นคือ เราแทบจะไม่ได้นึกถึงความเก่งกาจ ความสามารถพิเศษ หรือแม้กระทั่ง IQ ของเขาเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย!

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะบอกว่า ที่พูดมานี่ มันเกี่ยวกับข้องอะไรกับพัฒนาการเด็กหรือการเลี้ยงลูกตรงไหนคะ? เอ้า เกี่ยวเต็มๆ เลยหละค่ะ เพราะอันที่จริงแล้ว “อารมณ์ขัน” นี่หละค่ะคือศูนย์รวมของสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ “ปรารถนา” จะให้ลูกๆ มีให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความฉลาด ไหวพริบ ทักษะทางสังคม เรียกได้ว่า IQ ดี EQ เลิศ  ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่ได้คิดเลยว่า อารมณ์ขันนี่หละ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของความสามารถและทักษะดีๆ เหล่านี้

อันนี้ครูพิมไม่ได้พูดลอยๆ นะคะ เพราะมีงานวิจัยจากต่างประเทศหลายต่อหลายชิ้นที่ยืนยันว่า เด็กที่หัวเราะง่ายจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีไอคิวดี ฉลาด และมีความสุข ก็แล้วนี่ไม่ใช่สิ่งที่เรา (และลูก) ต้องการหรอกหรือคะ?ครูพิมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่อยู่กับเด็กๆ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขายิ้มและหัวเราะอย่างไร้เดียงสา แม้กับเรื่องที่ไม่น่าขำที่สุดในโลกก็ตาม บางทีแค่ครูพิมยกมือขึ้น ยกมือลง (บางทีไม่ได้ตั้งใจจะเล่นมุกอะไรด้วยซ้ำ) เด็กๆ ก็พากันหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง ประหนึ่งครูพิมเป็น 1 ในแก๊ง สามช่า  แต่นั่นยังไม่สำคัญกับที่ครูพิมเห็นรอยยิ้มที่ตามมาจากผู้ปกครอง ที่หลายๆ ครั้งแถมท้ายด้วยการชมเจ้าตัวเล็กว่า “เก่งจังลูก” หรือ “ดูสิ ฉลาดจริงๆ เลย”  บ้างก็พากันถ่ายรูปถ่ายวีดีโอกันประหนึ่งว่าเป็นลูก celeb ซึ่งดูแล้วก็เป็นภาพที่น่าประทับใจและดูอบอุ่นเสียจริง

แต่น่าแปลกไหมคะว่า เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เรากลับลืมความน่ารักของเจ้าตัวน้อย ในแบบที่เราเคยชื่นชม เรามองความสุขของลูก ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป เรา “จริงจัง” กับผลการเรียน กับความสามารถพิเศษ และกับความมีระเบียบวินัยของเด็กๆ โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่จะนำความสุขมาให้เราและลูก ทั้งๆ ที่บางครั้งความสุขก็อยู่ตรงหน้าเราและลูกอยู่แล้ว

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ครูพิมไม่ได้จะบอกว่า ความรู้และความสามารถพิเศษไม่ใช่สิ่งจำเป็นนะคะ เพราะเข้าใจดีว่า ตราบใดที่ลูกของเรายังต้องใช้ชีวิตในสังคมแห่งการแข่งขันนี้ ความรู้และความสามารถรอบด้านก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่อยากให้เราแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เด็กๆ ได้มีความเป็นเด็กหลงเหลืออยู่บ้าง และไม่อยากให้ละเลยความเฮฮาแบบไร้เดียงสา (แต่ไม่ไร้สาระ) ของพวกเขา เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้เขาเติมโตได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความสุขจนบั้นปลาย หาใช่ทักษะอื่นใด นอกไปจาก “ทักษะการใช้ชีวิต” นั่นเองค่ะ

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *