ในช่วงที่ครูพิมทำงานที่สโมสรเด็กนั้น ครูพิมมีโอกาสได้เจอเด็กๆ ตัวน้อยตั้งแต่วัยเตาะแตะจนถึงวัยกำลังซนจำนวนไม่น้อย และมักจะมีผู้ปกครองขอคำแนะนำในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ในวัยนี้อยู่บ่อยๆ ทำให้ครูพิมนึกถึงกิจกรรมหนึ่งที่มักจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้ลองทำ และแนะนำเด็กๆ ให้ลองเล่น นั่นคือ กิจกรรมเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส หรือ Sensory Play นั่นเองค่ะ
ดร. มาเรีย มอนเทสเซอรี่ ที่หลายๆ คนอาจรู้จักกันดี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแบบ Montessori ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องประสาทสัมผัสไว้ว่า มนุษย์เรามีการเรียนรู้และประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสมาตั้งแต่เกิด ซึ่งการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสนี่เอง ที่จะทำให้เด็กเล็กๆ ปรับตัวกับโลกได้เร็วขึ้น มีความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น เชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น และสิ่งเหล่านี้เองคือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางสมอง
การเรียนรู้แบบ Sensory Play นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมายค่ะ เพียงแค่เราเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสกับพื้นผิวที่หลากหลาย (และแน่นอนว่าไม่อันตราย) อย่างเช่น มันฝรั่งบด เส้นบะหมี่ลวกแล้ว ทรายทะเล พื้นหญ้า รวมไปถึงลูกบอลขนาดต่างๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นอย่างอิสระ โดยระมัดระวังเพียงความปลอดภัยอยู่ห่างๆ ก็พอค่ะ
การเล่นด้วยการใช้ประสาทสัมผัสนั้น ไม่ใช่แค่การนั่งแช่อยู่กับอะไรบางอย่าง อย่างไม่มีแก่นสาร อย่างที่หลายๆ คนเคยเข้าใจ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ระหว่างที่เด็กๆ กำลังเพลิดเพลินอยู่นั้น สมองของเขาก็กำลังทำงานอย่างแข็งขันทีเดียวค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลจากผิวสัมผัส การดมกลิ่น การลิ้มชิมรส (แล้วรู้ว่าบางอย่างไม่ควรชิมอีกเลย) การมองดูรูปร่างลักษณะของวัตถุ รวมไปถึงการฟังเสียง
ดังนั้น การให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านประสาทสัมผัสบ่อยๆ นั้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เซลล์สมองของเด็กๆ ได้พัฒนาเต็มที่และมีการเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ
เมื่อเห็นถึงประโยชน์ของ การเล่นผ่านประสาทสัมผัส หรือ Sensory Play กันไปบ้างแล้ว หลายคนอาจสงสัยต่อไปว่า แล้วจะเอาอะไรมาให้ลูกเล่นดี ต้องลงทุนแค่ไหน ต้องพาลูกไปข้างนอกทุกวันเลยมั้ย คำตอบคือไม่จำเป็นค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว สมบัติล้ำค่าราคาถูก ก็มีอยู่รอบตัวเราอยู่แล้วไม่น้อย ทีนี้ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า วัตถุดิบรอบตัวเรานี้ มีอะไรที่สามารถนำมาเป็น “ของเล่น” เพื่อเสริมพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยได้บ้าง แล้วเราควรจะจัดสรรการเล่นสิ่งนั้นๆ อย่างไรดีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
และวัตถุดิบสุดฮิต 10 อย่างที่ทั้งเล่นได้และไม่อันตรายหากหนูน้อยเผลอนำเข้าปาก ก็มีดังนี้นะคะ
1. ข้าวสาร จะแบบหุงสุกแล้ว หรือ ยังไม่หุงก็ได้นะคะ เพราะทั้ง 2 แบบให้สัมผัสที่ต่างกัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแม่ค่ะ ว่าเต็มใจจะเก็บกวาดข้าวแบบไหนมากกว่า ฮ่าๆ
2. เส้นบะหมี่หรือสปาเก็ตตี้ลวกแล้ว เด็กๆ จะได้เรียนรู้สัมผัสหนึบๆ ของเส้นบะหมี่ และเข้าใจถึงลักษณะของสิ่งที่เป็นเส้นๆ ยาวๆ ได้ด้วยค่ะ
3. ทราย สำหรับทราย ควรเป็นทรายที่สะอาด หรือทรายพิเศษที่มีไว้สำหรับเล่นโดยเฉพาะก็ได้ค่ะ (อันนี้กินไม่ได้ แต่ถือว่าอยู่ในวัตถุที่ไม่อันตรายสำหรับเด็กค่ะ)
4. อาหารเช้าซีเรียลต่างๆ อาหารสำเร็จรูปพวกนี้ มีผิวสัมผัสที่หลากหลาย และมีรูปร่างและสีสันที่แตกต่างกันไป ถือว่าเป็นของเล่นประเภท sensory ที่ดีทีเดียวค่ะ
5. เยลลี่ เด็กๆ สนุกมากเมื่อได้เล่นกับผิวลื่นๆ หยุ่นๆ ของเยลลี่ แถมยังอร่อยอีกด้วยนะ (ตรงนี้ต้องดูเรื่องความหวานของขนมด้วยนะคะ) และระวังเล่นไปเล่นมา ของเล่นชิ้นนี้จะหายไปหมดโดยไม่รู้ตัวนะคะ
6. แป้งทำขนม เนื้อสัมผัสของแป้งจะมีความฝืดนิดๆ และสนุกตรงที่สามารถเล่นได้อย่างอิสระ เหมือนการเล่นทรายเลยค่ะ
7. พาสต้าหรือมักกะโรนีแห้ง มีความพิเศษตรงที่มีรูกลวง เด็กๆ จะได้เรียนรู้กับผิวสัมผัสที่แข็งและขรุขระ แถมยังสนุกดีเวลาได้เอานิ้วน้อยๆ จิ้มมักกะโรนีชิ้นนั้นชิ้นนี้อีกด้วยนะคะ
8. ขนมปังกรอบหรือคุกกี้บดละเอียด อันนี้แทบไม่ต้องบรรยายเลยค่ะ ทั้งสนุกและอร่อย แถมอิ่มท้องด้วย เด็กๆ ที่ทานยาก อาจจะลองวิธีนี้ดูก็ได้นะคะ เพราะการเล่นไป ทานไป เด็กๆ จะไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นการบังคับมากค่ะ
9. มาร์ชเมลโล ขนมนุ่มนิ่มที่เด็กๆ โปรดปราน ก็นำมาเล่นได้เช่นกันค่ะ แต่ราคาของขนมชนิดนี้อาจจะแพงอยู่สักหน่อย อันนี้ต้องอยู่ที่งบประมาณของคุณแม่นะคะ
10. โยเกิร์ต ด้วยผิวสัมผัสแบบของเหลว เด็กๆ น่าจะเพลินอยู่กับการเล่นกับโยเกิร์ตอยู่ไม่น้อยค่ะ แต่ก็เช่นเดียวกันกับมาร์ชเมลโล คือโยเกิร์ตที่นำมาเล่น อาจจะต้องมีปริมาณมากสักนิด และแน่นอนว่างบประมาณก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับวิธีการเล่น ก็มีเพียงการเตรียมถาดหรือกระบะทรงลึก วางบนผ้าปูหรือผ้าใบกันเปื้อนผืนกว้างสักหน่อยเพื่อสะดวกต่อการเก็บกวาด และเป็นการกำหนดขอบเขตการเล่นไปในตัว จากนั้นก็เติมวัสดุหรือวัตถุดิบที่ต้องการให้เด็กๆ เรียนรู้ลงในถาดหรือกระบะ ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเด็กๆ ว่าจะเปิดประสบการณ์ให้ตนเองได้มากน้อยเพียงใดค่ะ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ผ่านการเล่นนะคะเด็กๆ
ครูพิม