แบ่งกันเล่น จำเป็นไหม?
Play and learn

แบ่งกันเล่น จำเป็นไหม?

“น้องมุก แบ่งเพื่อนเล่นบ้างสิคะ” … น้องปั้น อันนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียวนะลูก
เหล่านี้คือบทสนทนา ซึ่งบางครั้งมาพร้อมกับเสียงดุๆ ของผู้เป็นแม่ (หรือบางทีก็พ่อ) ที่ครูพิมมักได้ยินจนชินหู
ส่วนประโยคที่ว่า “ถามจริงๆ เถอะ เราจำเป็นต้องให้เด็กๆ แบ่งของเล่นกันไหม?”
คือคำถามที่เพื่อนสนิทของครูพิมเอ่ยถามด้วยความสงสัยขั้นสุด

แบ่งกันเล่น จำเป็นไหม?
Photo Cr: kidsinthehouse.com

(ปล. ชื่อเด็กๆ เป็นนามสมมตินะคะ)

นั่นสิคะ… เราจำเป็นต้องให้เด็กๆ แบ่งของกันเล่น หรือแบ่งขนมกันกินจริงหรือ ?
คำตอบของเรื่องนี้ ถ้าถามครูพิม ก็ตอบได้ว่า ทั้งจำเป็น และ ไม่จำเป็น ทั้งนี้เพราะเรื่องของ “การแบ่งปัน” นี้ มันมีข้อจำกัดทางพัฒนาการมาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเองค่ะ

ในทางจิตวิทยานั้น เราศึกษากันในเรื่องของพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย เพื่อที่จะได้เข้าใจและตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในบรรดาสิ่งที่นักจิตวิทยาศึกษากันนั้น ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งที่ครูพิมคิดว่า สามารถนำมาอธิบายในเรื่องของการแบ่งปัน ได้ค่อนข้างจะเรียบง่ายและชัดเจน

ซึ่งเรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า โดยปกติแล้ว เด็กๆ จะมีพัฒนาการทางสังคมเป็นลำดับขั้นตามช่วงวัย

  • โดยสำหรับวัยแรกเกิด ถึงประมาณ 2 ขวบ หนูน้อยเหล่านี้จะสนุกสนานกับการเล่นคนเดียว ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Solitary Play หรืออาจจะชอบเล่นกับพ่อแม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นหรืออุปกรณ์ประกอบอะไรให้ยุ่งยาก และหากมีของให้เล่น เด็กวัยนี้ก็จะมีความเข้าใจว่า อ่อ นั่นก็เล่นได้ นี่ก็เล่นได้ ‘ฉันเล่นได้ทั้งหมดเลย’
  • พอเริ่มอายุใกล้ๆ 3ขวบ เด็กๆ ก็จะเริ่มรู้จักสังเกตการเล่นของเพื่อนๆ และเริ่มที่จะนั่งเล่นใกล้ๆ กัน เอาของเล่นมาวางรวมๆ กัน ในลักษณะที่เรียกว่า ดูเขาดูเรา หรือ Parallel Play ซึ่งหมายความว่า ฉันจะเล่นข้างๆ เธอนะ แต่เราไม่ได้กำลัง “เล่นด้วยกัน” เพราะฉะนั้น เธอจะยังเข้าเขตหวงห้ามของฉันไม่ได้
  • จนเมื่ออายุปาเข้าเลข 4 โน่นหละค่ะ (4 ขวบนะ ไม่ใช่ 40) ถึงจะเริ่มรู้จักการอยากเข้ากลุ่ม อยากเล่นด้วยกัน ในแบบที่เรียกว่า Associative Play ซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ แต่ถึงกระนั้น เด็กวัยนี้ก็ยังไม่วายจะหวงของ ก็แหม ของมันยังเคยๆ นี่คะ จะให้เปลี่ยนแปลงปุ๊ปปั๊บเลยก็ใช่จะง่าย ต้องให้เวลากันบ้าง อ้อ แต่ขอบอกไว้อย่าง ว่าของฉันก็คือของฉันนะจ๊ะ ยืมกันเล่นหนะพอได้ แต่จะให้เลย ขอบอกว่ายาก!

เอ้า แล้วเมื่อไหร่กันที่ลูกของฉันจะรู้จักแบ่งปันเนี่ย หลายคนคงเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจแล้ว

ใจเย็นๆ นะคะ น้ำใจหนะมีแน่ ขอแค่รอหน่อย รออีกแค่ ปีถัดมาเท่านั้นเองค่ะ เพราะพอเด็กๆ เริ่มเข้าสู่วัย 5 ปี ก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “กฏทางสังคม” แล้ว นั่นก็คือ อยากที่จะได้รับการยอมรับ อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ชอบที่จะได้เล่นด้วยกันเป็นกลุ่ม แบบที่เรียกว่า Cooperative Play และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็จะไม่ได้รู้สึกลำบากใจนักที่จะแบ่งปันสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนที่เขารู้จักหรือสนิทสนม

ทีนี้เข้าใจแล้วใช่ไหมคะว่า ทำไมครูพิมถึงบอกว่า การสอนให้เด็กรู้จักแบ่งปันนั้น ถึงมีทั้งคำตอบที่บอกว่าจำเป็น และ ไม่จำเป็น

หากเจ้าตัวเล็กของคุณยังอายุไม่ถึง 3 ขวบดี การแบ่งปัน ก็อาจจะยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องสอนหรือให้เขาทำให้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะบอกลูกว่า เอ้า แย่งเลยลูก ไม่ต้องให้ใครทั้งนั้น อันนี้ของเราคนเดียว แหม่ อันนั้นก็เกินไปค่ะ เพราะนอกจากเด็กจะไม่เป็นที่รักแล้ว ยังอาจจะพาลมาถึงตัวคุณด้วย เอาเป็นว่า หากอยากจะสอนเขาเรื่องการแบ่งกัน ก็ให้คุณเป็นคนทำสิ่งนั้นเป็นตัวอย่างแทนนะคะ เพราะแม้ว่าเด็กไม่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่คุณทำ แต่การกระทำที่เป็นตัวอย่าง จะส่งผลให้เขาทำพฤติกรรมที่ได้เห็นมาอย่างสม่ำเสมอในอนาคตได้ไม่ยากค่ะ หรือหากว่าอยากจะให้เจ้าตัวน้อยวัยนี้เล่นด้วยกัน ก็ต้องดูแลให้เด็กๆ เหล่านั้นมีของเล่นของตัวเองให้เรียบร้อย หรือเตรียมของเล่น ขนม ไปเผื่อ เพื่อไม่ให้เกิดศึกวัยน้ำนมโดยไม่จำเป็นนั่นเองค่ะ

แต่ถ้าลูกคุณอยู่ในช่วงวัย 4 – 5 ขวบหรือมากกว่านั้น การสอนให้รู้จักแบ่งปันก็เป็นเรื่องที่ดี และจำเป็นต่อการเข้าสังคมของเขาอย่างมากค่ะ เพราะถึงแม้ธรรมชาติจะบอกให้เขาอยากที่จะมีส่วนร่วมในกลุ่ม แต่วิธีการเข้ากลุ่มที่ดีและเป็นที่รักนั้น ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้ปกครองนี่หละค่ะ ไม่เช่นนั้น เด็กๆ ก็จะเลือกใช้วิธีอื่นเพื่อให้ได้เข้ากลุ่มแทนก็เป็นได้ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีหรือไม่ดีนั้น บางทีเราก็ไม่อาจรู้ได้เลย จนกว่าครูใหญ่จะเรียกตัวไปพบ หึหึ ถึงวันนั้นก็รู้แล้วใช่ไหมคะ ว่าลูกของเราเลือกใช้วิธีเข้าสังคมแบบไหน

เด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการทางสังคมที่แตกต่างกัน ความเข้าใจในความแตกต่างนี้จะช่วยให้เรามองเห็นข้อจำกัดของเด็กแต่ละคน

หลังจากที่ครูพิมได้อธิบายเรื่องทั้งหมดนี้ให้เพื่อนช่างสงสัยฟัง คำถามที่ตามมาอีกหนึ่งคำถามก็คือ
“แล้วถ้ามีของเล่นชิ้นเดียว จะให้แบ่งกันยังไง?”

หลังจากที่ได้ยินคำถามนั้น ครูพิมก็ตอบไปด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า ก็ถ้าแบ่งกันเล่นไม่ได้ ก็ไม่ต้องแบ่ง

ค่ะ ง่ายๆ แค่นั้นเลย …

ก็อย่างที่บอกนั่นหละค่ะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ ที่จะแบ่งของใช้ ให้ของกิน ในขณะที่ตัวเขาเองยังรู้สึกขาดอยู่เลย (อันที่จริง เรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่ายสำหรับผู้ใหญ่เช่นกันใช่ไหมคะ) เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของการที่จะทำให้เขาเรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน จึงอยู่ที่การทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้ขาด หรือสูญเสีย อะไรไป ซึ่งในวัยที่โตจนเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม เขาจะเรียนรู้ได้เองว่า การได้รับมิตรภาพ หรือ การได้รับการยอมรับนั้น คือการได้รับสิ่งตอบแทนอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับเด็กเล็กๆ การแบ่งของเล่นที่เขามีอยู่เพียงน้อยนิดนั้น แทบจะเป็นการสูญเสียโลกทั้งใบเลยทีเดียว

ว่าแล้วก็ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ให้ฟังกันหน่อยดีกว่า

ฮันน่า และ ลิซ่า เป็นพี่น้องที่ปกติก็รักใครกลมเกลียวกันดี แต่วันนั้นฮันนาพาตุ๊กตาตัวโปรดมาเล่นด้วย ในขณะที่เจ้าคนน้อง “ไม่มี”

  • ขณะที่ฮันน่ากำลังกอดรัดฟัดเหวี่ยงอยู่กับตุ๊กตาตัวโปรด ลิซ่าก็ตรงเข้ามาหยิบและวิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว
  • ฮันน่าก็ทั้งงง ทั้งโกรธ ถึงกับร้องไห้จ้า
  • เอาหละสิ ปัญหาเกิดแล้ว
  • แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะฮันน่าก็ใช่จะยอม ตรงปรี่ไป “เอาคืน” ทันทีที่ตั้งสติได้
  • เจ้าตัวเล็กก็ไม่ยอม ทึ้งผมพี่สาวจนร้องไห้หนักเข้าไปใหญ่ !

คุณแม่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด (ซึ่งบอกได้เลยว่าเกิดขึ้นเร็วมาก ) ก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะควบคุมสถานการณ์

  • หันมาข้างหนึ่งก็ดุพี่ (อายุ5 ขวบละค่ะ) บอกให้รู้จักแบ่งกันเล่นบ้าง
  • พอหันมาอีกทีก็ตีเจ้าคนน้อง (รายนี้ 2 ขวบ) บอกว่าแย่งพี่แบบนี้ไม่ได้

ปัญหาเลยบานปลายไปกันใหญ่ ทีนี้พากันร้องไห้กันระงม แถมยังยื้อแย่งตุ๊กตากันสุดแรง

ด้วยความที่ว่าสนิทสนมกับสองพี่น้องเป็นอย่างดี ครูพิมจึงขอถือวิสาสะเข้าไปยุติสงคราม
ด้วยการ “หยิบ” เจ้าตุ๊กตาเจ้าปัญหา “ออกมา” พร้อมกับบอกว่า “เดี๋ยวพี่เก็บไว้ให้เองนะ ไปเล่นอย่างอื่นกันเถอะ”

แล้วสงครามพี่น้องก็จบลงอย่างสงบและสวยงาม ตุ๊กตาปลอดภัย ความรักใคร่กลมเกลียวก็กลับมาสู่บ้านนี้อีกครั้ง เพราะเด็กๆ ชวนกันไปเล่นอย่างอื่นที่มีอยู่ในสโมสร ง่ายจนไม่อยากจะเชื่อเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่มันคือเรื่องจริงค่ะ

ปัญหาของเด็ก ๆ บางครั้งก็ไม่ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตหรอกค่ะ เพราะไม่นานพวกเขาก็ลืมแล้ว มีแต่ผู้ใหญ่ นี่หละ ที่จำไว้ไม่ยอมลืมเสียที แถมบางทีพาลไม่ให้เด็กๆ เล่นด้วยกันอีกเลยก็มีค่ะ ว่าแต่ทำแบบนั้นแล้วเด็กๆ เขารู้เรื่องด้วยไหมคะเนี่ย…

หมายเหตุ สำหรับวิธีการส่งเสริมให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน ขอยกไปเป็นหัวข้อหน้านะคะ เพราะครูพิมมีเรื่องชวนคุยอีกยาวเลย

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *